วันนี้คอลัมน์ “ตรวจการบ้าน” จึงต้องมาสนทนากับ “หทัยรัตน์ พหลทัพ” อดีตบรรณาธิการบริหาร เดอะอีสาน เรคคอร์ด และอดีตผู้สมัครสว.หนองบัวลำภู ที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์คลุกวงในสมรภูมิเลือกสว.ครั้งนี้ ถอดรหัส บทสรุปเลือกสว. 200 คนครั้งนี้ใครได้ประโยชน์
โดย “อดีตบรรณาธิการบริหาร เดอะอีสาน เรคคอร์ด” ออกมาเปิดประเด็นว่าคนที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือคนที่อ่านเกมและอ่านกติกาการเลือก สว.ขาด จนมีเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคสีน้ำเงินที่เตรียมการมาเป็นอย่างดี วางแผนอย่างเป็นระบบ ซึ่งเห็นได้ว่าคนที่ได้คะแนนลำดับต้นๆ ของทุกกลุ่มอาชีพน่าจะถูกวางตัวเข้ามาทำหน้าที่ สว.ตามใบสั่ง ซึ่งคนเหล่านั้นมีความใกล้ชิดกับกลุ่มอำนาจที่ตอนนี้เข้าใจว่าพรรคสีน้ำเงินกับพรรคอนุรักษ์นิยมได้ทำงานร่วมกัน จึงทำให้ได้ สว.มาหน้าตาแบบนี้
ส่วนประชาชนคงได้ประโยชน์น้อย เพราะวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร.มาจากประชาชนคงไม่เกิดขึ้นในวุฒิสมาชิกชุดนี้ รวมถึงการตรวจสอบถ่วงดุลคงไม่มีให้เห็นมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งผู้ที่เข้าไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระต่างๆ ก็คงไม่ได้ผู้ที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะมองจากรายชื่อสว.ที่คาดว่าน่าจะฟังเสียงประชาชนหรือสว.อิสระนั้นมีไม่มาก แต่อย่างไรก็ตามไม่อยากให้สังคมหมดหวังเสียทีเดียว เพราะประชาชนสามารถกำกับการทำหน้าที่ของสภาสูงได้อีกทอดหนึ่ง
@การเลือก สว.ครั้งนี้เกิดข้อครหาในเรื่องการฮั้วกันเองของผู้สมัคร สว.ทุกสาย
จริงๆ แล้ว ในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภูที่ดิฉันลงสมัคร สว. มันก็มีกระบวนการจัดตั้งอยู่ตลอดเท่าที่ทราบมี 6 กลุ่ม เช่น กลุ่มโรงงานเอกชน พรรคการเมือง ซึ่งไม่ใช่มีพรรคเดียวแต่มีหลายพรรค ขณะที่ในส่วนของภาคประชาชน ส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครอิสระไหลมารวมกัน ซึ่งเข้าใจว่ามันเกิดจากกระแสแคมเปญ สว.ประชาชน ของคณะก้าวหน้า ซึ่งใน จ.หนองบัวลำภู นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ลงพื้นที่รณรงค์จึงทำให้เกิดกระแสความสนใจของประชาชนขึ้นมา ส่วนตัวก็ได้รู้จักกลุ่ม หรือคนอื่นๆ จากการลงพื้นที่ของนายธนาธรในครั้งนั้น คนที่มาร่วมก็ไม่ได้บอกว่าเป็นสีส้ม แต่เป็นคนเสื้อแดงเก่าเสียมากกว่า อีกส่วนหนึ่งก็เป็นการแนะนำจากคนที่รู้จักในพื้นที่ว่าต้องการอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ส่วนใหญ่ที่รู้จักเป็นผู้สมัครอิสระที่จ่ายเงินเข้ามาสมัครเองแล้วมาแพ็กกันเป็นทีม เพราะบบนี้จำเป็นต้องมีเพื่อน ถูกออกแบบมาให้จำเป็นต้องรู้จักกันและรู้จักคน ถ้าไม่รู้จักคนจะมีปัญหาเวลาไปเจอรอบเลือกไขว้
ถามว่ากลุ่มของเราเป็นการจัดตั้งแบบให้เงินให้ทองหรือไม่นั้น ก็ยืนยันว่าไม่ใช่ เหมือนเป็นการใช้ใจล้วนๆ จึงเกิดบรรยากาศว่า เมื่อคนอิสระไหลมารวมกัน พอผ่านเข้ารอบอำเภอแล้ว ไม่มีการจัดตั้งให้เงินให้ทองมูลค่าสูง จึงเกิดบรรยากาศของการหักหลังกัน เพราะต่างคนต่างรู้สึกว่าตัวเองก็สามารถทำได้ ไม่ต้องการสนับสนุนเพื่อนอีกต่อไปและไม่ได้เห็นว่าคนนั้นคนนี้มีคุณสมบัติเพียงพอ ส่วนตัวมีผู้สมัคร สว.ที่พูดคุยกันว่าจะโหวตให้กันและกัน แต่พอไม่มีอามิสสินจ้างให้ เขาก็เปลี่ยนขั้วไปสนับสนุนคนที่จ่ายเงินให้ หรือเขาก็ประกาศตัวเป็นคู่แข่งกับเรา เพราะคิดว่าตัวเองก็สามารถเป็น สว.ได้เหมือนกัน เลยทำให้เราเสียมวลชนไป
ถ้าหากว่ามีการจัดตั้งอย่างแท้จริง ยกตัวอย่าง สายสีน้ำเงิน เสียงไม่แตกเลย เพราะทุกคนจะเดินไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่าเขาน่าจะมีท่อน้ำเลี้ยงและการสนับสนุนที่ทำให้คนไม่เปลี่ยนใจได้ พอถึงขั้นระดับประเทศก็เป็นไปตามทิศทางที่เขาต้องการได้ อย่างไรก็ตามกรณีพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งไม่ขอเอ่ยชื่อ ก็มีการจัดตั้งคนเช่นกัน แต่จัดตั้งไม่สำเร็จ มีการแตกคอกันในพื้นที่ เลยเห็นการโหวตในรอบอำเภอที่แตกกัน เพราะไม่ได้รับค่าตอบแทนตามที่สัญญาไว้
@ มองอย่างไรต่อการเลือกสภาสูงครั้งนี้จะเป็นหลุมดำที่ทำให้เกิดรัฐประหารในอนาคตได้หรือไม่
จากผลการเลือก สว.ครั้งนี้ทำให้เห็นชัดได้ว่า พรรคสีน้ำเงินมีอำนาจกุมสภาสูง ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการต่อรองอำนาจต่างๆ กับสภาล่างหรือรัฐบาล ผลการเลือก สว.ครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้สภาสูงปราศจากการกุมทิศทางจากนักการเมือง ส่วนจะเป็นหลุมดำจนทำให้เกิดรัฐประหารหรือไม่นั้น ไม่กล้าตอบเรื่องนี้ เพราะคงมีหลายปัจจัยที่หนุนเสริมกันจนทำให้เกิดรัฐประหารได้ แต่ถ้าประชาชนเข้มแข็งเหมือนช่วงปี 2563-2564 การรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นได้โดยง่าย
@มีกฎหมายอะไรที่มองว่า จะเป็นวาระร้อนในสภาสูงบ้าง
กฎหมายที่น่าจะเป็นประเด็นในการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางแน่ๆ คงหนีไม่พ้นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … แม้ตอนนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา แต่ก็ยังเป็นข้อถกเถียงว่า จะนิรโทษกรรมให้กับคดีที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ถ้าเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและผ่านการพิจารณาของสภาสูงจนถึงขั้นตอนการบังคับใช้จะสามารถแก้ไขปัญหาการเมืองที่สะสมมานานตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในสังคมไทยที่สะสมมาอย่างยาวนาน ประกอบกับคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งควรสิ้นสุดลงไปพร้อมกับการหมดอำนาจของ คสช. แต่จนถึงตอนนี้ยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งต้องขึ้นโรงขึ้นศาลที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหารอยู่
@หลังจากที่เห็นกติกาที่ไม่เอื้อให้ได้คนดีมีความสามารถเข้ามาทำหน้าที่ ผลพวงการมี สว.จากผลไม้พิษจะมีการแก้อย่างไร
ตอนนี้ยังตัดสินไม่ได้ว่า ผู้ที่ได้รับเลือก 200 คนเป็นคนดีหรือไม่ดี มีความรู้ความสามารถเหมาะสมในการทำหน้าที่หรือไม่ ต้องรอให้เขาพิสูจน์ผลงานก่อน รู้เพียงบางคนที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ อย่าง คุณอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เห็นผลงานชัดเจน เป็นต้น แต่การทำงานที่ต้องอาศัยการลงมติด้วยเสียงข้างมาก แล้วมี สว.ที่มีจุดยืนเคียงข้างประชาชนจำนวนไม่มากก็อาจจะทำงานได้ลำบาก เพราะเสียงส่วนใหญ่ที่ได้รับเลือกอาจจะมีส่วนเกี่ยวพันหรือเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองบางพรรค ดังนั้นพวกเขาอาจจะไม่มีความอิสระในการตัดสินใจหรือทำงานในสภานิติบัญญัติ การจะแก้ไขกติกาการเลือก สว.ที่มองว่าเป็นผลไม้พิษอาจจะทำไม่ได้ในวุฒิสภาชุดนี้ ดังนั้นการเลือก สว.ครั้งหน้าอาจจะต้องใช้กติกาแบบนี้ต่อไป ซึ่งก็คงอาจจะได้คนของพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่งที่อ่านเกมการเลือก สว.ขาดและวางแผนมาอย่างเป็นระบบอย่างที่เคยเกิดขึ้น
@คิดว่าการเลือก สว.ครั้งนี้ควรเป็นโมฆะและควรล้มกระดานให้มีการเลือกใหม่หรือไม่
ส่วนตัวมองว่ากระบวนการเลือก สว.มีความไม่ชอบมาพากล แต่นำไปสู่การทำให้การเลือก สว.เป็นโมฆะหรือไม่นั้นมี ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยว่าการเลือก สว.ควรจะเป็นโมฆะหรือไม่ เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือ ในเรื่องการใช้งบประมาณในการเลือก สว.ที่ผ่านมาเป็นงบประมาณที่เยอะพอสมควร เรามองว่าถ้าหากกติกายังเป็นแบบนี้อยู่ไม่มีทางที่การเลือก สว.จะโปร่งใส ต้องกลับไปสู่อีหรอบเดิมก็คือคนที่อ่านกติกาขาดสามารถจัดตั้งมาได้เหมือนเดิม เพราะระบบมันเปิดให้มีการฮั้ว อีกส่วนหนึ่งคือเราไม่คิดว่าทางฝ่ายพรรคการเมืองเขาจะทุ่มสรรพกำลังมากขนาดนี้ ถ้าหากกฎกติกายังเป็นอย่างนี้อยู่ไม่มีทางจะได้สว.ที่คนคาดหวัง
ครั้งนี้คนที่หลุดเข้าไปสว.ประชาชนฝ่ากลเกมเข้าไปได้เกือบ 30 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 67 คน เพื่อเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งส.ส.ร. รวมทั้งองค์กรอิสระต่างๆ ให้มีความเหมาะสม เมื่อไม่ได้ตามนั้น ก็จะไปล้มกระดานไม่ได้ เพราะจะกลับเข้าไปสู่อีหรอบเดิม ไม่มีทางที่จะได้มากกว่าเดิม เพราะเขาอ่านกติกาขาด นอกจากไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเลือก สว.เอง หรือแก้ไขให้เป็นสภาเดียว ซึ่งก็ไปเป็นได้ยากอีก หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเสียงสว.ประชาชนได้เท่านี้ แต่ขอย้ำว่า 20-30 คนที่เป็นฝ่ายประชาชนเข้าไปนั้น ก็ถือว่าเป็นความหวังมากกว่า 250 คนที่มีอยู่เดิม.