ขึ้นชื่อว่า “เล็บ” แล้ว.. หลายๆ คนอาจจะมองเป็นสิ่งเล็กน้อยที่มองเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่หากวันหนึ่งพบว่า “เล็บ” ที่เราเคยมองข้าม กลับมีความผิดปกติเกิดขึ้นมา.. ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการเกิด “โรคสะเก็ดเงินที่เล็บ” ขึ้นมาโดยไม่ทันรู้ตัวก็ได้

โดยในเรื่องนี้ อ.พญ.ชนิตว์วัณณ์ วิชญชาคร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “โรคสะเก็ดเงินที่เล็บ (Nail psoriasis)” เป็นความผิดปกติของเล็บที่พบในโรคสะเก็ดเงิน อาจมีอาการเป็นเฉพาะที่เล็บหรือพบร่วมกับอาการอื่นของโรคสะเก็ดเงิน เช่น รอยโรคสะเก็ดเงินที่ผิวหนัง ขุยที่หนังศีรษะ หรืออาจมีข้ออักเสบร่วมด้วยได้ สาเหตุเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติบริเวณใต้โคนเล็บ และบริเวณใต้แผ่นเล็บ ทำให้เกิดการอักเสบและมีรอยโรคเกิดขึ้นที่แผ่นเล็บ

สำหรับ “อาการแสดงของโรคสะเก็ดเงินที่เล็บ” เกิดได้จากสองตำแหน่ง
-ตำแหน่งแรกอาจเกิดขึ้นที่ใต้โคนเล็บที่มีเนื้อเยื่อตัวสร้างเล็บ (Nail matrix disease) หากรอยโรคเกิดที่ตัวสร้างเล็บแล้ว เล็บที่งอกออกมาอาจพบรอยหลุม, ร่องขวาง, เล็บแยกชั้น, เล็บขรุขระไม่เรียบ, หรืออาจพบจุดขาวที่เล็บได้
-ตำแหน่งที่สองหากรอยโรคสะเก็ดเงินเกิดขึ้นที่ฐานเล็บ (Nail bed) เล็บที่งอกออกมา อาจมีลักษณะหนาและแข็ง, มีแผ่นเล็บไม่ติดกับฐานเล็บ, มีจุดเลือดออกใต้เล็บ, หรืออาจพบวงคราบสีเหลืองหรือสีส้มที่เล็บ การวินิจฉัยโรคสามารถให้การวินิจฉัยจากลักษณะของเล็บที่ผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับการมีรอยโรคสะเก็ดเงินที่อื่น ๆ ของร่างกาย หากรอยโรคไม่ชัดเจน สามารถยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิสภาพเพิ่มเติม การวินิจฉัยแยกโรค ควรแยกออกจากโรคอื่น ๆ ที่เล็บ เช่น เชื้อราที่เล็บ และภาวะการอักเสบของเล็บชนิดอื่น ๆ เช่น trachyonychia และ lichen planus

“สะเก็ดเงินที่เล็บ” เป็นโรคที่รักษาค่อนข้างยาก อาจต้องใช้การรักษาร่วมกันหลายวิธี ได้แก่ 1.หลีกเลี่ยงการชนหรือการกระแทกซ้ำๆ ที่ปลายเล็บ 2.ใช้ยาทา ซึ่งมีอยู่สองกลุ่มคือ สเตียรอยด์ และ Vitamin D analogue (Calciprotriene) 3. ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าใต้เล็บ 4. ยากินมักใช้ในรายที่เป็นมาก หรือมีอาการทางระบบอื่นๆร่วมด้วย ยาที่นำมาใช้ ได้แก่ acitretin, methotrexate, cyclosporine หรือยากลุ่ม biologics และ 5. เลเซอร์ชนิด pulsed dye laser จากการศึกษาพบว่าได้ผลค่อนข้างดี ต้องทำเดือนละครั้งติดต่อกัน 3-5 ครั้ง

“โรคสะเก็ดเงินที่เล็บ เป็นโรคที่รักษาค่อนข้างยาก มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้” ดังนั้นคำแนะนำสำหรับการดูแลเบื้องต้นด้วยตนเอง คือ

  1. ควรหลีกเลี่ยงการชนหรือการกระแทกซ้ำ ๆ ที่เล็บเนื่องจากอาจกระตุ้นให้ตัวโรคเป็นมากขึ้น
  2. ควรทาครีมให้ความชุ่มชื้นที่มือและเล็บบ่อย ๆ และสม่ำเสมอ
  3. ควรหลีกเลี่ยงการทำเล็บ แต่งเล็บ
  4. ควรตัดเล็บให้สั้น
  5. ควรใส่ถุงมือ เมื่อต้องใช้มือทำงานบ้าน
  6. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสสารเคมี และตัวทำละลายโดยตรง

ฉะนั้น เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นบน “เล็บ” ของคุณเมื่อใด พึงระลึกและไม่ควรมองข้าม เพราะอาจจะเป็นลางบอกเหตุถึง “โรคสะเก็ดเงิน” ขึ้นมาได้..

………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”