มองเพียงผิวเผิน การปล้นร้านทองในห้าง พื้นที่นนทบุรี อาจเป็นเพียงอาชญากรรมทั่วไป  แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริง“ผู้ก่อเหตุ” เป็นเพียงเด็กสาววัย 17 ปี เรียนอยู่ชั้นม.ปลาย  เรื่องนี้ไม่ปกติ!!!

ยิ่งสืบสาวราวเรื่อง พบ“สาเหตุ”เกิดจากถูกหลอกระดมทุนผ่านออนไลน์ ในรูปแบบ“แชร์ออมเงิน” สูญเงิน 50,000 บาท ที่เป็นเงินประกันชีวิตพ่อที่เสียไปแล้ว เมื่อกลัวแม่รู้จึงก่อเหตุปล้น หวังได้เงินที่เสียไปคืนมา  จากคดีที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นปัญหาการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ที่แพร่ระบาดหนักอย่างไม่เลือกหน้า ไม่ว่าผู้ใหญ่  หรือเด็กและเยาวชนต่างมีโอกาสตกเป็นเหยื่อมากขึ้น

เป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ต้องจัดการ  เพื่อลดเหยื่อหน้าใหม่  โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่การเลือกตัดสินใจตามวัย อาจนำไปสู่การหาทางออกในเส้นทางผิด…

.ต.อ.นิตติโชติ  เพ็ญจำรัส  ผกก.4 บก.ปอศ.  เผยถึง สถิติคดีเกี่ยวกับการหลอกลงทุนในลักษณะระดมทุนรูปแบบต่างๆ จำพวกกลุ่มแชร์ออมเงิน ออมทองว่า  ยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาจะมีคดีปรากฎเป็นข่าวดังมากมาย แต่ส่วนใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่อกลับไม่เคยนำอดีตเหล่านั้นมาใช้เป็นบทเรียน  สำหรับการหลอกลงทุนแชร์ออมเงิน ออมทอง ที่คุ้นหู รู้หรือไม่ว่าหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นการลงทุนแชร์ แต่แท้จริงพฤติกรรมเหล่านี้เรียกว่าการหลอกระดมทุน ไม่ใช่ลงทุนแชร์อย่างที่เข้าใจ  เนื่องจากวิธีการนี้จะไม่มีเท้าแชร์ หรือ การเปียแชร์ เหมือนกติกาวงแชร์ทั่วไป  แต่เป็นการหลอกชักชวนให้นำเงินมาลงทุนแล้วจ่ายค่าตอบแทนในอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งถือเป็นความผิดตามพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่ามีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับเรื่องราว(story)ที่กุขึ้นมาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อาทิ เปิดกลุ่มระดมเงินทุน เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจต่างๆ หรือกระทั่งการนำไปปล่อยกู้นอกระบบต่อ  แม้เรื่องราวที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นจะมีมากมาย แต่สิ่งที่เหมือนกันคือเน้นดึงดูดความสนใจของเหยื่อด้วยคำพูดหว่านล้อมอ้าง“ค่าตอบแทนสูง”จูงใจให้นำเงินมาลงทุน  ช่วงแรกมีการจ่ายค่าตอบแทนจริง รอจนตายใจ จากนั้นจึงออกลายเชิดหนี กว่าที่เหยื่อจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว  ที่น่าแปลกใจอีกอย่างคือผู้เสียหายหลายรายยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรื่องราวเหล่านั้นคืออะไร  สนใจเพียงแค่ว่าได้ค่าตอบแทนสูงกลับมาตามที่มิจฉาชีพเหล่านี้กล่าวอ้างก็พอ

ผกก.4 บก.ปอศ. กล่าวต่อว่า มีอีกข้อกังวลของปัญหาคือ แม้ผู้ต้องหาจะถูกจับดำเนินคดี แต่การติดตามเงินคืนในทางปฏิบัติค่อนข้างยาก  ถึงนำกลับคืนมาได้ก็อาจต้องใช้เวลานานพอสมควร ซ้ำร้ายบางกรณีเหยื่อที่ถูกหลอกเองก็อาจจะไม่ได้รับสิทธิ์ให้อยู่ในสถานะที่เรียกว่า“ผู้เสียหาย”ด้วยซ้ำ  

“การที่ผู้เสียหายรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่าการนำเงินไปลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ย่อมหมายถึงมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงอาจเข้าข่ายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิ์ร้องทุกข์  มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วใน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282 / 2563”

สำหรับแนวโน้มสถิติคดีที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาขึ้นตามยุคสมัย ประกอบกับการที่สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คน  ย่อมส่งผลให้มิจฉาชีพเหล่านี้สามารถเชื่อมต่อ หรือเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย

ปัจจุบันจึงเริ่มเห็น“เยาวชน”ตกเป็นเหยื่อ ถูกหลอกเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มนี้ยังขาดการยังยั้งชั่งใจและการตรึกตรองที่ดีตามวัยวุฒิ  เห็นแค่ว่าได้เงินง่าย กลายเป็นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟติดกับดักหลุมพรางวายร้าย  

สุดท้ายฝากถึงผู้คิดลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนรูปแบบใดก็ตามควรตรวจสอบให้ดีว่าการลงทุนนั้นน่าเชื่อถือเพียงใด หลีกเลี่ยงลงทุนที่มีข้อเสนอฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้ หรือมีเงื่อนไขในลักษณะที่ได้ผลตอบแทนสูง ง่าย ไม่ซับซ้อน เพราะมันไม่มีอยู่จริง

“ถ้าได้เงินง่ายและดีอย่างที่ว่าจริง ทำไมพวกมิจฉาชีพเหล่านี้ถึงไม่เอาทรัพย์สินของตัวเองมาลงทุนเสียงเอง”

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]