โดยเฉพาะการเป็นออกพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินโครงการภายใต้มาตรา 53พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

ทั้งนี้สาระสำคัญของมาตรา 53  ไม่ใช่ทำได้ทุกกรณี แต่มีเงื่อนไขกำกับไว้ให้ทำได้เฉพาะกรณีเท่านั้น เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

ด้วยเหตุนี้!!จึงไม่แปลกใจใด ๆ ที่จะเห็นบรรดากุนซือของรัฐบาล เดินแถวเรียงหน้าชี้แจง เดินหน้าอรรถาธิบาย ถึงความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องออกพ.ร.บ.กู้เงินฯ

โดยเฉพาะการหยิบยกภาวะ “วิกฤติ” ของประเทศ ทางด้านเศรษฐกิจ มาเป็นกำแพงยัน เพื่อให้การออกกฎหมายเดินหน้าต่อไปได้

เมื่อคนของรัฐบาลนำเรื่องภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ มาตอกย้ำหนาหูมากขึ้น บ่อยครั้งขึ้น แถมยังกลายเป็นข้อโต้แย้ง เป็นข้อถกเถียงตามหน้าสื่อทุกแขนง โดยเฉพาะตามโซเชียล

จึงไม่แปลกใจ!! ที่ความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม จะดิ่งเหวลดลงต่อเนื่อง ติดต่อกันถึง 4 เดือน

ไม่เพียงเท่านี้… ยังเป็นการลดลงต่ำที่สุด ในรอบ 16 เดือน หรือ 1 ปีกับ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหรรม ในเดือนต.ค. 66 ลดลงอยู่ในระดับ 88.4

แม้เหตุผลหลัก จะมาจากความกังวลเศรษฐกิจโลก ตามเหตุปัจจัยที่รับรู้กันอยู่แล้วก็ตาม แต่อีกหนึ่งเหตุใหญ่ที่ปฎิเสธไม่ได้ ก็มาจากเรื่องของเศรษฐกิจในประเทศ

เหตุที่กังวล!!ก็เพราะรัฐบาลได้ออกมาตอกย้ำว่า…เศรษฐกิจเกิด “วิกฤติ” ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จีดีพีในปีนี้อาจเติบโตไม่ถึง 3% ก็ตาม

ต่อให้สำนักวิจัยเศรษฐกิจ ต่อให้นักเศรษฐศาสตร์ จากหลายหน่วยงาน ออกมาบอกว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องก็ตาม แต่ในเมื่อรัฐบาลออกมาย้ำเองว่าเกิด วิกฤติ” ต่อให้ใครก็ต้องเชื่อรัฐบาลใช่หรือไม่?

ไม่ใช่เพียงแค่ดัชนีภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่ลดลงต่ำกว่า 100  เพราะ…ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา แม้ปรับขึ้นต่อเนื่องและสูงสุดในรอบ 44 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 60.2 ก็ตาม

แต่ดัชนีเชื่อมั่น!! ที่ยังต่ำกว่า…ระดับปกติที่ระดับ 100  นั้น ก็แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ทั้งผู้บริโภค ยังไม่มีความมั่นใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

ณ วันนี้ อาจเรียกได้ว่ความพยายามชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็น ในการต้องออกฎหมายกู้เงิน เพื่อแจกเงินดิจิทัล วอลเลต อาจกลายเป็นการตอกย้ำให้ ความเชื่อมั่น” เศรษฐกิจลดลง

ทั้งที่เหตุผลของรัฐบาล “เศรษฐา 1” ยืนยัน ชัดเจน ว่า…หากมัวแต่ช้า ไม่คิดอ่านทำอะไร จะมีผลต่อเศรษฐกิจแน่นอน โดยเฉพาะอย่างในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า

เพราะความเสี่ยงที่ยังต้องเผชิญอัตราเงินเฟ้อสูง ยังคงมีอยู่ รวมไปถึงความขัดแย้ง การทำสงครามของกลุ่มฮามาสและอิสราเอล ยังไม่ยุติ และอื่น ๆ อีกมากมาย

ด้วยเหตุนี้…ในฐานะรัฐบาลที่ต้องบริหารประเทศ จึงจำเป็นที่ต้องหามาตรการออกมายันกำแพง ไม่ให้ล้มกันซะก่อน เพราะถ้าปล่อยให้เกิดปัญหา ความยุ่งยากจะตามมาในบัดดลเช่นกัน!!

เอาเป็นว่า เรื่องของเงินดิจิทัล วอลเลต นี้ ใช่ว่าจะผ่านพ้นไปได้ง่าย ๆ เพราะยังต้อรอฟังที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลอย่าง คณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าจะหาทางออกในเรื่องนี้อย่างไร

แถมยังมีด่านสภาผู้แทนราษฎร สภาวุฒิสภา ที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ แม้ในการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากสามารถกุมเสียงส.ส. ให้โหวตเห็นชอบได้ ก็ยังมีด่านวุฒิสภา ที่ต้องไปตกลง ไปทำความเข้าใจ เพื่อให้ยกมือผ่าน

แต่!! ที่ยังเสี่ยง ไม่รู้เหนือ รู้ใต้ ก็คงเป็นความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ หลัง นักร้อง-ศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.140 ประกอบ พรบ.วินับการเงินการคลังของรัฐ 2561 ม.53 หรือไม่

ทั้งหมด!! ก็ยากต่อการคาดเดาว่า…สุดท้าย!! โครงการเงินดิจิทัล วอลเลต ไปลงเอยที่ใด แต่ในเวลานี้ รัฐบาลควรเลิกตอกย้ำคำว่าวิกฤติเศรษฐกิจ ไปก่อนจะดีกว่ามั๊ย!!.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”