ผู้หญิงไทยคนแรก ที่พิชิตเทรลที่ยิ่งใหญ่ของโลก “อัลตร้า เทรล มองบลังค์” ระยะ 100 ไมล์ หรือ 172 กม.

“เอ๋” พิชชานันท์ มหาโชติ สาววัย 44 ปี จากโพธาราม จ.ราชบุรี เธอลุยผ่าน 3 ประเทศ ฝรั่งเศส อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ ความสูงสะสม 10,042 เมตร โดยทำเวลา 42.10.56 ชั่วโมง และจบอันดับ 56 จาก 187 คน ในประภทหญิง อันดับรุ่นอายุที่ 22 จาก 83 คน

ไม่ใช่ความอึดในการแข่งขันเท่านั้น เรื่องชีวิตเธอก็ใจแกร่ง ใจเพชร ฝ่าฟันมรสุมลูกใหญ่สุด ที่พัดกระหน่ำก่อนออกสตาร์ตงานวิ่งใหญ่ที่เธอใฝ่ฝัน

เมื่อคุณแม่ได้เสียชีวิตลง เพราะโควิด-19 คุณแม่ที่เธอบอกว่า คือสิ่งเดียวในชีวิต

พิชชานันท์ มหาโชติ ลาออกจากงานประจำ เพื่อมาดูแลแม่ ที่ป่วย เดินเหินลำบาก ตั้งแต่ปี 2558 ทำให้ขาดรายได้ประจำ

ก่อนเดินทางไปฝรั่งเศส ได้ทราบว่าคุณแม่ติดโควิด ด้วยสภาพจิตใจว้าวุ่น งานใหญ่กำลังมา แต่ด้วยหน้าที่ก็ต้องลุยต่อ โดยฝากเพื่อนให้ดูแลแม่ ทว่าการสูญเสียจึงเกิดขึ้นระหว่างที่ พิชชานันท์ กำลังเดินทางบนเครื่องบิน และกว่าเธอจะทราบ ก็ผ่านไปราว 1 สัปดาห์แล้ว แม่ที่ดูแลมาตลอด ถูกนำร่างไปฌาปนกิจ เหลือเพียงเถ้ากระดูก

“ขึ้นเครื่องวันที่ 13 ส.ค. ลงฝรั่งเศสวันที่ 14 ส.ค. ตอนนั้นคุณแม่เสียแล้ว แต่เพื่อนปิดข่าว ไม่บอก กลัวเราเสียสมาธิ” พิชชานันท์ กล่าว

“ไปถึงเริงร่ามาก ตื่นเต้น ดีใจ เราได้มาแล้ว รายการที่เราใฝ่ฝัน ดูสนาม ดูเส้นทางไปเรื่อย ไม่ได้รู้เรื่องของแม่เลย”

ทว่าความฟ้าที่สดใส เปลี่ยนเป็นเมฆปกคลุมทันที เมื่อเธอทราบเรื่องจากทางโลกโซเชียล วันที่ฝันกำลังเป็นจริง อีกมุมหนึ่งก็เป็นวันแห่งความสูญเสียใหญ่ในชีวิต

“เราทราบเห็นข้อความ ส่งแม่ขึ้นสวรรค์ โลกมันมืดมนไปหมด ทั้งที่ทำใจไว้แล้ว เชื้อมันลงปอด หนูกราบพระทุกวัน แม่สู้ๆ แม่ต้องรอหนูนะ แต่แม่ไม่อยู่แล้ว”

“ร้องไห้วันนึง พี่ที่ดูแลบอกว่า เอ๋ต้องทำหน้าที่นะ เอ๋บอกว่า ขอหยุดเสียใจ 1 วัน อีก 6 วันจากนี้จะทำหน้าที่ จะอดทนเศร้าก็เศร้า วิ่งเสร็จแล้วจะกลับมาร้องไห้ต่อ”

ระหว่างนั้น การจัดการศพของคุณแม่ผ่านไป โดยเพื่อนที่ฝากไว้ดูแลให้ทุกอย่าง แม้ตัวเองจะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง กักตัว 14 วัน ก็ยังยอมที่จะถ่ายคลิปส่งมาให้ดู

“เพื่อนก็เอากระดูกมาไว้ที่บ้าน มันน่าเศร้าที่แม่ใจสู้มา 5 ปี เป็นหลายโรคก็จริง แต่สู้ เอ๋ก็สู้ แต่มาโควิด แม่สู้ไม่ไหวแล้ว”

แม้แกร่งเพียงใด เมื่อเสียคนที่รักสุดในชีวิต คนที่เป็นเหตุผลของการสู้ชีวิต ความหดหู่ คิดมากย่อมมาเยือน

“ตอนเอ๋วิ่งในเขา ก็คิดว่าถ้ากระโดดลงเขาไปเลย คนก็จะได้ไม่รู้ อยากกระโดดลงไป ไม่ให้ใครรู้ เพราะเอ๋ไม่มีใคร ไม่มีครอบครัว เอ๋ อยู่เพื่อแม่”

“แต่ฮึด ไม่ได้นะ คนไทยรอเราอยู่ ยังไงก็ต้องทำก่อน ไม่เคยมีคนไทยมาจบที่นี่ ต่อไปเราตายไปอย่างน้อย มีประโยชน์ว่าอยู่เพื่ออะไร ก็เลยคิดได้เอง สู้จนจบ”

“เคยถามตัวเอง เกิดเพื่ออะไร แต่มาคลุกคลีกับแม่ เราคิดว่าตัวเองเกิดมาเพื่อแม่ ฉันจะอยู่ดูแลแม่ ฉันจะตายไม่ได้”

สู้ชีวิตของ พิชชานันท์ ก็เพื่อแม่ งานประจำไม่มี เก็บเล็กผสมน้อย

“รายได้ที่ผ่านมาใช้เบี้ยคนพิการของแม่ เอ๋เองก็ตำส้มตำ แล้วฝากเขาขายออนไลน์ อีกอย่างคือ เก็บใบต้นหูกวาง ขายกิโลกรัมละ 5 บาท เวลาไปวิ่งก็เก็บมาเรื่อยๆ เขาเอาไปทำอาหารปลา ลำบาก ต้องไปรื้อไปค้น บางทีมีสิ่งสกปรก มีขี้หมา อะไรที่เป็นเงินก็ทำ ส่วนหนึ่งก็เอาเงินที่มีน้อยอยู่แล้ว ไปจ้างคนมาดูแล เพื่อเราจะได้ไปซ้อม”

“ชีวิตไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร ไม่มีที่ดิน ไม่มีกิจการ ก็ต้องคิดว่าต่อไปจะทำอะไร แต่ที่แน่ๆ ก็จะย้ายบ้าน ไม่อยากอยู่ตรงนั้น อาจย้ายจังหวัดไปเลย เพราะไม่มีญาติสนิทที่ไหน”

การไปแข่ง “อัลตร้า เทรล มองบลังค์” ไม่ได้มีหน่วยงานใดๆ มาจ่ายเงินให้ ต้องหาทุนกันเอง ซึ่ง พิชชานันท์ที่แทบจะไม่มีเงินเก็บ ก็ได้คนรู้จัก เปิดทอล์คชีวิตตัวเอง ใครอยากให้ก็ให้ คนฟังไม่เยอะ 30 คน แต่ทำเสื้อมาขาย ได้ราว 2 แสนบาท เป็นทุนในการไปแข่งขัน แต่เงินก้อนนั้น ก็ได้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ระหว่างทางก็มีค่าใช้จ่าย เช่นเดินทางไปซ้อม นอกจากนี้ยังต้องมีเงินในบัญชีให้เพียงพอ เพื่อการทำวีซ่า

ส่วนแผนการต่อไปของ พิชชานันท์ เธอบอกว่า คงต้องถึงเวลาต้องหางานประจำ แล้วก็อาจถอยจากวงการวิ่ง

“ต้องหางาน แต่ยอมรับว่าชักเบื่อวงการวิ่งแล้ว รักการวิ่งอยู่นะ แต่อยากวิ่งตามใจตัวเอง ว่างก็ไป ไม่อยากฝืน บางรายการบอกเลยว่าไม่อยากไปแข่ง แต่ไปเพราะมีเงินรางวัล แล้วที่ผ่านมา เราก็กรำศึกหนัก อายุ 45 ปีแล้ว ร่างกายเริ่มพัง เอ๋เป็นรองช้ำมา 4 ปีแล้ว หมดค่ารักษาไปครึ่งแสน เหมือนวิ่งหาเงิน เพื่อเอามาซ่อมตัวเอง”

“สภาพเอ๋แต่ละรายการ ไม่เคยเต็มร้อย เอ๋ไม่เคยซ้อมถึง เพราะภารกิจดูแลแม่ เอ๋ใช้ใจ พอสวมรองเท้าวิ่งแล้วเป็นอีกคน สู้แค่ตาย”

“เงินที่ได้จากงานวิ่ง ก็มาจากประเภทถนนเท่านั้น วิ่งเทรลในไทยไม่มีเงินรางวัลให้ เขาให้แต่บัตรของขวัญ เราก็ไปขายต่อ แต่ราคาก็ลดลง ซึ่งการไปวิ่งแต่ละรายการ มันก็คือการลงทุน ค่าที่พัก ค่ากิน ค่าซ้อม แทบจะไม่เหลือ พยายามเก็บ ประหยัด ใช้เงินให้น้อยที่สุด ของฟุ่มเฟือยไม่มี ต้องขอบคุณที่ไปบางรายการก็มีคนช่วย ให้พักฟรี”

อย่างที่ทราบ ตอนนี้งานวิ่งงดแข่งขันไปโดยปริยาย เงินรางวัลที่ถือเป็นรายได้หลักของเธอก็หายไป ซึ่งเธอยอมรับว่าแทบไม่มีติดตัวเลย

“เหลือเงินไม่เยอะแล้ว ไม่อยากบอกจำนวน เทหมดหน้าตักไปกับการไปเทรลมองบลังค์ แล้วไปช่วงโควิด ค่าใช้จ่ายสูงมาก”

“ยอมรับว่าฐานะลำบาก แต่เอ๋ไม่อยากเปิดบริจาค ไม่อยากแปะเลขบัญชี เอ๋เกรงใจทุกคน ถ้าอยากช่วย ตอนนี้ก็มีเสื้อของเอ๋ขายอยู่ ที่ผ่านมาขายไม่ค่อยได้มาก เพราะไม่ค่อยเล่นโซเชียล ไม่ได้โปรโมทเท่าไหร่ ถ้าสนใจไปดูที่เฟซบุ๊ก คนเดียว ก็วิ่งได้ หรือทักอินบอกซ์เข้ามา”

เสื้อของ พิชชานันท์ ที่สั่งซื้อได้ทางเฟซบุ๊ก คนเดียว ก็วิ่งได้

“อีกอย่างคืออยากได้โฆษณามาสักตัว เพื่อได้มีเงินก้อนเป็นทุน ช่วงย้ายบ้านคงใช้เงินเยอะ”

“ชีวิตต่อไปจะยังไงก็ไม่รู้ แต่ความฝันคือ อยากมีสวนเล็กๆ ปลูกผักไปขาย ว่างก็ไปวิ่ง เท่านี้แหล่ะค่ะ ความฝันของเอ๋ แค่นี้เอ๋ก็คงมีความสุขแล้ว” พิชชานันท์ ทิ้งท้าย

แม้จะพบความสูญเสียครั้งใหญ่ อาการจม ดำดิ่ง ย่อมมีบ้าง แต่เชื่อว่าด้วยหัวใจแกร่ง จะฉุดให้ลุกขึ้น และวิ่งต่อไปอย่างห้าวหาญ บนเส้นทางในชีวิตข้างหน้า ไม่ว่าเธอจะเลือกวิ่งไปทางไหนก็ตาม.

*** วุฒินล บุญวานิช ***

(ภาพจากเฟซบุ๊ก คนเดียว ก็วิ่งได้)