ศึกยูโร 2024 ซึ่งเยอรมนี จะรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว

และจนถึงเวลานี้ เราน่าจะได้รู้แล้วว่า 24 ทีมที่จะได้ไปร่วมฟาดแข้งในรอบสุดท้ายกลางปีหน้า เป็นใครกันบ้าง (ยกเว้นทีมที่ยังต้องไปลุ้นในการเพลย์ออฟ)

หนึ่งในสัญญาณบ่งบอกว่าทัวร์นาเมนต์ที่แฟนบอลรอคอยใกล้เข้ามา คือการจับสลากแบ่งกลุ่ม ซึ่งในศึกยูโร 2024 จะมีพิธีการจับสลากแบ่งกลุ่มรอบสุดท้ายกันที่เมืองฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี ในวันที่ 2 ธ.ค. นี้แล้ว

อีกหนึ่งสัญญาณบ่งบอกคือการเปิดตัวสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทัวร์นาเมนต์ ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ประจำการแข่งขัน เพลงประจำการแข่งขัน

รวมถึง Official Match Ball หรือลูกฟุตบอลที่จะใช้ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการ…

ล่าสุดสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) และ อาดิดาส เพิ่งทำการเปิดตัวลูกฟุตบอลที่จะใช้อย่างเป็นทางการในศึกยูโร 2024 ออกมาเรียบร้อยแล้ว ในงานเปิดตัวที่สนามโอลิมเปีย สตาดิโอน ในกรุงเบอร์ลิน เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี มานูเอล นอยเออร์, ฟิลิป ลาห์ม รวมถึง เซเลีย ซาซิช นักเตะหญิงทีมชาติเยอรมนี ร่วมงานเปิดตัว

ภายใต้ชื่อรุ่นว่า FUSSBALLLIEBE (ฟุสส์บอลลีเบอ) ซึ่งเป็นภาษเยอรมัน แปลเป็นอังกฤษคือ “love of football” หรืแถอดความเป็นภาษาไทย ก็ประมาณว่า “ความรักในเกมลูกหนัง” อะไรทำนองนั้น

เจ้า “ฟุสส์บอลลีเบอ” นี้ ถือเป็นลูกฟุตบอลประจำการแข่งขันยูโรลูกแรก ที่เป็นลูกฟุตบอลสำหรับเกมลูกหนังสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการตัดสินอย่างเต็มตัว

อันดับแรก เจ้า “ฟุสส์บอลลีเบอ” มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Connected Ball Technology” ซึ่งจะมีเซ็นเซอร์อยู่ด้านใน ซึ่งจะใช้วัดค่าด้วย IMU หรือหน่วยตรวจวัดการเคลื่อนไหวที่ความถี่ 500 เฮิร์ตซ์ ซึ่งจะมีความเสถียร และสามารถชาร์จแบตเตอรีได้ เพื่อช่วยจับทุกการเคลื่อนไหวของลูกฟุตบอล เพื่อเป็นตัวช่วยในกระบวนการตัดสินด้วยวีเออาร์

นอกจากนี้ยังมีระบบ CTR-CORE หรือแกนกลางในลูกฟุตบอลที่ถูกปรับจูนให้เคลื่อนที่ด้วยความแม่นยำ สม่ำเสมอ พุ่งไปอย่างรวดเร็ว และสามารถกักเก็บลมไว้ภายในได้โดยที่ลูกฟุตบอลยังคงรูปทรงได้อย่างยาวนาน โดยองค์ประกอบขั้นในทำจากยางธรรมชาติที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หุ้มด้วยเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ที่จะช่วยรักษารูปทรงและช่วยให้ชั้นยางด้านในมีความคงทน ขณะที่ผิวด้านนอกทำจากโพลียูริเทน ช่วยให้ลูกพุ่งแหวกอากาศได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ อาดิอาส ยังเผยว่า “ฟุสส์บอลลีเบอ” นอกจากจะเป็นลูกฟุตบอลที่ใช้วัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ในการผลิตแล้ว มันยังถือเป็นลูกฟุตบอลที่ใช้วัสดุธรรมชาติมาผลิตมากที่สุดในบรรดาลูกฟุตบอลทุกรุ่นที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยข้าวโพด อ้อย เยื่อไม้ และยางพารา โดยที่ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อคุณสมบัติของลูกฟุตบอลทั้งสิ้น

ส่วนในเรื่องของดีไซน์นั้น “ฟุสส์บอลลีเบอ” ถูกออกแบบให้รู้สึกถึงการเคลื่อนที่อย่างมีพลัง ผ่านแถบสีดำที่เป็นเหมือนปีก พร้อมเพิ่มความโดดเด่นด้วยสีสัน เส้นโค้ง และจุดต่าง ๆ นอกจากนี้ บนลูกฟุตบอลยังมีภาพของสนามแข่งขันที่จะเป็นสังเวียนแข้งในศึกยูโร 2024 และชื่อเมืองที่จะเป็นเจ้าภาพ ปรากฏอยู่บนลูกฟุตบอลด้วย

นอกจากนี้ แฟนบอลที่ซื้อหาเจ้า “ฟุสส์บอลลีเบอ” ไปไว้ในครอบครอง ก็จะได้ร่วมทำบุญด้วย โดย ยูฟ่า และ อาดิดาส จะแบ่งเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ได้จากการจำหน่ายลูกฟุตบอลอย่างเป็นทางการของศึกยูโร 2024 ลูกนี้ มอบให้กับ “คอมมอน โกล (Common Goal)” องค์กรการกุศลที่ก่อตั้งโดย “สตรีทฟุตบอลเวิลด์” และ ฆวน มาตา อดีตดาวเตะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และทีมชาติสเปน เพื่อรวบรวมสรรพกำลังของคนในวงการฟุตบอล เพื่อช่วยการกุศลทั่วโลกด้วย

และเชื่อแน่ว่าในศึกยูโร 2024 รอบสุดท้ายที่เยอรมนี ซึ่งจะดวลแข้งกันระหว่างวันที่ 14 มิ.ย. ถึง 14 ก.ค. ปีหน้านั้น “ฟุสส์บอลลีเบอ” จะมีบทบาทในการสร้างความสนุกสนานให้บรรดาแฟนบอลได้ตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์

และสำหรับแฟนบอลที่เห็นแล้วถูกใจ อยากได้เจ้า “ฟุสส์บอลลีเบอ” มาไว้ในครอบครอง ก็สามารถหาซื้อได้ที่ช้อปของ อาดิดาส รวมถึงช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ๆด้ตามอัธยาศัย สนนราคาก็ลูกละ 150 ยูโร หรือราว 5,700 บาท แต่ลูกฟุตบอลที่จำหน่ายให้แฟนบอลทั่วไปจะไม่มีเทคโนโลยี “Connected Ball Technology” แต่อย่างใด

ทีมข่าวกีฬาเดลินิวส์

//////////////////////////////////

ย้อนตำนานลูกฟุตบอลยูโร…

  1. ยูโร 1968 (อิตาลี) : เทลสตาร์ อีลาสต์

2. ยูโร 1972 (เบลเยี่ยม) : เทลสตาร์ เดอร์ลาสต์

3. ยูโร 1976 (ยูโกสลาเวีย) : เทลสตาร์ เดอร์ลาสต์

4. ยูโร 1980 (อิตาลี) : แทงโก้ ริเวอร์เพลท

5. ยูโร 1984 (ฝรั่งเศส) : แทงโก้ มุนเดียล

6. ยูโร 1988 (เยอรมนีตะวันตก) : แทงโก้ ยูโรป้า

7. ยูโร 1992 (สวีเดน) : อีทรุสโก ยูนิโก

8. ยูโร 1996 (อังกฤษ) : เควสตร้า ยูโรป้า

9. ยูโร 2000 (เนเธอร์แลนด์/เบลเยี่ยม) : เทอร์เรสตร้า ซิลเวอร์สตรีม

10. ยูโร 2004 (โปรตุเกส) : โรเตโร

11. ยูโร 2008 (ออสเตรีย/สวิตเซอร์แลนด์) : ยูโรพาสส์

12. ยูโร 2012 (โปแลนด์/ยูเครน) : แทงโก้ 12

13. ยูโร 2016 (ฝรั่งเศส) : โบ เฌอ

14. ยูโร 2020 (ทั่วยุโรป) : ยูนิโฟเรีย