จนทำให้บรรดา “คนรุ่นใหม่” ต่างไขว่คว้าที่จะก้าวเข้าสู่หนทางของการเป็น อินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้นำทางความคิด มากกว่าการทำงานตามระบบปกติ หรือบางคน อาจยึดอาชีพนี้เป็นอาชีพที่สอง

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลตอบแทน ที่หอมหวนยวนยั่วใจไม่น้อย ส่วนหนึ่งก็กลายเป็นคนมีชื่อเสียง ในแวดวง ในวงการ ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร?

ที่สำคัญ!! หนทางของอินฟลูเอนเซอร์ ยังสามารถนำไปต่อยอด ไปแตกแขนง จนอาจทำให้กลายเป็นเศรษฐีรุ่นใหม่ได้ไม่น้อยเช่นกัน!!

ว่ากันว่า…ตลาดอินฟลูเอนเซอร์เติบโตก้าวกระโดดมาตลอดหลายปี โดย The State of Influencer Marketing 2023 โดย Influencer Marketing Hub เว็บไซต์ด้านการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังของโลก พบว่า การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกเริ่มต้นในปี 2549 ด้วยมูลค่าตลาดเพียง 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่านั้น

จนกระทั่งมาถึงปี 2565 พบว่า… ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ มีมูลค่าสูงถึง 16,400 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะเติบโตเพิ่มขึ้นถึง28.67% จากปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 21,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกันมีผู้เชี่ยวชาญ ได้ประเมินไว้ว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ตกสะเก็ดในปัจจุบัน ถือเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ผลักดันความนิยมการใช้งานอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเติบโตแบบก้าวกระโดดกันทีเดียว

เหตุผลสำคัญ ก็เป็นเพราะ…มีความได้เปรียบเหนือสื่อเก่า ๆ และสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย ความชัดเจนของกลุ่มเป้าหมาย หรือความยืดหยุ่น

ไม่เพียงเท่านี้!! จำนวนเงินที่ธุรกิจ ใช้ไปกับอินฟลูเอนเซอร์ ก็มีเพียงประมาณ 20% ของจำนวนเงินที่ใช้กับสื่อออนไลน์ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีอนาคตที่สดใสเติบโตต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 1-2 ปีแน่นอน 

ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ ที่แพร่หลายกันอยู่มากในเวลานี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะ “คนรุ่นใหม่” เท่านั้น แต่เวลานี้ เชื่อหรือไม่? ว่า บรรดา แม่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ จำนวนไม่น้อยทีเดียว ที่ทั้งก้าวไปสู่การเป็นดาวติ๊กต่อก ทั้งการบริโภคคอนเทนต์บนติ๊กต่อ อย่างต่อเนื่อง

จนเวลานี้…กลายเป็นว่าแพลตฟอร์ม ติ๊กต่อก ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ในใจคนไทยทั้งประเทศไปแล้ว !!

นอกจากนี้ต้องยอมรับด้วยว่า อินฟลูเอนเซอร์ ยังสามารถจูงใจผู้บริโภคได้มาก จากการมีภาพลักษณ์ที่เป็นเสียงจากผู้บริโภค สมจริง ใกล้ชิดเหมือนเพื่อน จึงทำให้ผู้รับฟังเปิดรับได้ง่ายกว่า

ด้วยการนำเสนอสินค้าและบริการ อยู่ในแบบของการแชร์ประสบการณ์ตรง พร้อมบรรยายสรรพคุณอย่างละเอียด ซึ่งถือเป็นการตลาดแบบปากต่อปาก จึงทำให้เข้าถึงได้ง่ายกว่า

หาก อินฟลูเอนเซอร์ มียอดผู้ติดตามมาก ก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z ส่วนใหญ่ที่มีพฤติกรรมการรับชมการรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ก่อนตัดสินใจซื้อ

ปัจจุบันว่ากันว่า…จำนวนอินฟลูเอนเซอร์ ในขณะนี้มีไม่น้อยกว่า 3-4 แสนคนแน่นอน และไทย ก็เป็นตลาดที่มีอินฟลูเอนเซอร์มากเป็นอันดับสอง ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย

ด้วยศักยภาพของตลาดอินฟลูเอนเซอร์ ที่แข็งแกร่งเช่นนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก!!ใด ๆ เช่นกัน ที่ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ที่มีหน้าที่หลักในการผลักดันให้การส่งออกสินค้าไทยเติบโตได้ต่อเนื่อง จึงต้องการเรียกใช้บริการจากอินฟลูเอนเซอร์ จำนวนมาก  โดยให้ทูตพาณิชย์ และพาณิชย์จังหวัด ไปค้นหาคนที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อให้มารีวิว มาแนะนำ สินค้าและบริการผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่เพิ่มช่องทางให้คนทั่วโลก ได้รู้จัก ไปจนถึงการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของไทย

โดยอุตสาหกรรรมที่มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ มากที่สุด ได้แก่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม แฟชั่นและความงาม อุปกรณ์เสริม (Gadgets) และแบรนด์เครื่องมือสื่อสาร

หากผู้ส่งออกไทย หันมาดึงอินฟลูเอนเซอร์ มาช่วยขายสินค้า ก็ถือเป็นอีกหนทางสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าเกษตร ที่อาจนำอินฟลูเอนเซอร์ในชุมชน มาเป็นตัวผลักดันในการขายสินค้า โดยภาครัฐเองก็ต้องทำหน้าที่ โดยร่วมมือกันสนับสนุนอินฟลุเอนเซอร์รุ่นใหม่ในชุมชน พร้อมกับสร้างแรงจูงใจ

เชื่อเถอะ…หากกระตุกอินฟลูเอนเซอร์ได้ถูกจุด ก็สามารถต่อยอดผลักดันให้สินค้าไทยในชุมชน เป็นที่รู้จักในเวทีโลกได้ไม่น้อยเช่นกัน.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”