ไม่เพียงเท่านี้…ยังปักหมุดให้เทศกาลสงกรานต์ของไทย ต้องเป็น “ IP festival” เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานสงกรานต์ของโลก ที่คนทั่วโลกต้องบินมาเล่นน้ำสงกรานต์ที่ไทย

จนกระทั่งล่าสุด เพจเฟซบุ๊กของพรรคเพื่อไทย ต้องออกมาแจกแจงรายละเอียดของการจัดงานในแต่ละช่วงเวลา ในแต่ละจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด โดยย้ำว่าเป็นการทะยอยจัดงานสงกรานต์ ตลอดเดือนเม.ย.ปี 67

โดยเป้าหมายสำคัญก็เพื่อต้องการ ดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างประเทศมากกว่า 35 ล้านคน เพื่อสร้างรายได้ 40,000 ล้านบาทกระจายสู่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เทศกาลสงกรานต์ ในเมืองไทย ถือเป็นเทศกาลที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างวางแผนที่จะเดินทางมาร่วมงาน หรืออย่างน้อย ต้องเดินทางมาให้ได้สักครั้ง

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก!! ที่ผู้บริหารประเทศหรือผู่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาคเอกชน ต่างคาดหวังที่จะต่อยอดให้เทศกาล ประเพณีสำคัญของไทยนี้ เป็นตัว “ทำเงิน”

ที่สำคัญ…ไม่ใช่มีเพียงเทศกาลสงกรานต์ เท่านั้นที่เป็นแมกเน็ต สำคัญของไทย ยังมีอีกมากมายหลายเทศกาล ที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ได้พยายามปลุกปั้นให้ไทยเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่คนทั่วโลกต้องบินเข้ามาสัมผัสบรรยากาศ

อย่าง เทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ที่ ณ เวลานี้ ไทยได้กลายเป็นอีกหนึ่ง เดสทิเนชั่น สำคัญของโลกไปแล้ว หลายพื้นที่ได้จัด เคาท์ดาวน์” อย่างใหญ่โต จนทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกไม่พลาด!!

ทุกวันนี้ ประเทศไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่อยู่ในใจของนักท่องเที่ยวไม่น้อย ที่ต้องเดินทางมาให้ได้สักครั้งหนึ่ง ด้วยศักยภาพในทุกด้านที่ไทยไม่แพ้ใครในโลก

หากผนวกเข้ากับการจัดอีเว้นต์ใหญ่ ๆ ที่สร้างแรงดึงดูดเพิ่มเติมเข้าไปอีก ก็เชื่อได้ว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ไม่น้อยทีเดียว

แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน เมื่อการจัดงานใหญ่ของรัฐบาล มีเรื่องของเงินงบประมาณเข้าไปเกี่ยวข้อง แน่นอน!! ความกังขา ความสงสัยย่อมต้องเกิดขึ้นแน่นอน ว่าสุดท้ายแล้วใครกันแน่? ที่ได้ประโยชน์!!

บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา เคาะวงเงิน 5,164 ล้านบาท เพื่อผลักดัน 11 อุตสาหกรรมที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย

โดยอุตสาหกรรมเฟสติวัล และอุตสาหกรรมอาหารไทย ที่ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณสูงสุด โดยอุตสาหกรรมเฟสติวัล ได้รับ 1,009 ล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารโดยเชฟอาหารไทย ได้รับ 1,000 ล้านบาท

ส่วนสาขาท่องเที่ยวได้รับ 711 ล้านบาท สาขาศิลปะ 5 โครงการ ได้รับ 380 ล้านบาท สาขากีฬา เน้นเรื่องมวยไทย ได้รับ 500 ล้านบาท ด้ารสาขาหนังสือ เน้นส่งเสริมออกงานหนังสือนานาชาติ ได้รับ 69 ล้านบาท สาขาภาพยนตร์ ละคร ซีรี่ย์  ได้รับ 545 ล้านบาท สาขาแฟชั่น 268 ล้านบาท สาขาเกม 374 ล้านบาท เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้…คำถามจึงเกิดขึ้นตามหลังมากมาย โดยหลายฝ่ายหลายคน ต่างหาถึงคำตอบที่เหมาะสม และยิ่งสำทับไปด้วยการจัดกิจกรรมกันทั้งเดือน สุดท้ายหนีไม่พ้นว่า เงินและผลประโยชน์ จะตกไปอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่หรือไม่?

อย่าลืมว่า ทุกวันนี้ รัฐบาลยังมีปัญหาในเรื่องของการหาเงินหารายได้เข้าประเทศ แต่กลับกลายเป็นว่า “การใช้เงิน” ของรัฐบาลในสารพัดโครงการ มีมาอย่างต่อเนื่อง

แม้การถามหาเหตุผล!! ในเชิงการเมืองจะเป็นนัยยะ ทางการเมือง ก็ตาม!! ขณะเดียวกันประชาชนคนไทยทั่วไปต่างก็อยากรู้คำตอบไม่น้อยไปกว่ากัน

แต่หากปรับมุมมองไปในเชิงบวก การสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ด้วยการจัดอีเว้นต์ จัดกิจกรรมมากถึง 10,000 กิจกรรม ก็สามารถที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่น้อยเหมือนกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเทศกาลมหาสงกรานต์  ที่บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ คาดหมายไว้ว่าจะช่วยสร้างรายได้กลับคืนมาไม่น้อยกว่า 35,000 ล้านบาททีเดียว

ส่วนจะได้ตามที่เขียนโปรเจกต์ใหญ่ไว้มากน้อยเพียงใด ก็ต้องไปรอดูฝีมือของบอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ชุดนี้ว่าจะไปได้ถึงดวงดาวหรือเปล่า?.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”