โดย“รศ.ดร.ยุทธพร” เปิดประเด็นว่า  “การนิรโทษกรรม” มีการคุยมาหลายยุคหลายสมัย และมักเป็นปมร้อนเสมอ เช่น สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นที่มาของการชุมนุมของกลุ่มกปปส.และจบลงด้วยการรัฐประหารในปี 2557 ส่วนครั้งนี้แม้จะไม่ได้เสนอโดยรัฐบาล แต่ก็มีคำถามว่า “ใครที่จะได้ประโยชน์” ครอบคลุมคดีประเภทไหนบ้าง ซึ่งจากแนวทางที่พรรคก้าวไกลเสนอนิรโทษกรรมทางการเมือง ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม การเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้าน เพราะคนในพรรคก้าวไกล หรือนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว มีความใกล้ชิดกับพรรคก้าวไกล ที่จะได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรมครั้งนี้หรือไม่

ส่วนตัวเห็นว่าควรนิรโทษกรรมทางการเมืองร่วมสมัย ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ซึ่งกินระยะเวลา 18-19 ปี แต่ต้องจำกัดเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น จะทำให้ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุม คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องเหล่านี้มีโอกาสหันมาพูดคุยกัน และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสมานฉันท์ ลดความขัดแย้งในสังคม ส่วนคดีอื่นๆ ที่เป็นความผิดทางอาญา รวมถึงคดี 112 ก็ใช้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไป แต่ในกระบวนการยุติธรรมนั้นจะต้องเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับด้วย

“ต้องการแยกฐานความผิดระหว่างคดีการชุมนุมทางการเมืองกับคดีที่เป็นความผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ได้มีแค่มาตรา 112 เท่านั้น แต่ยังมีคดีทุจริต และอีกเยอะที่มีการกล่าวหากันในช่วงเกือบ 20 ปีนี้ ก็ให้ใช้กระบวนการยุติธรรมที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ เโปร่งใส มีคำอธิบายชัดเจน ส่วนการชุมนุมทางการเมืองอาจจะนิรโทษกรรมได้ด้วยกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ถ้าไปนิรโทษกรรมความผิดอื่นๆ ด้วย คิดว่ามันจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้เช่นเดียวกัน”

@ พรรคเพื่อไทยมีบทเรียนจากพ.ร.บ.สุดซอย คิดว่าเพื่อไทยจะแสดงจุดยืนหรือเล่นเกมอะไรหรือไม่

วันนี้พรรคเพื่อไทยคงจะโยนหน้าที่นี้ให้สภา เพราะเขาก็อยู่ในฐานะของรัฐบาล อีกทั้งคนเพื่อไทยที่ถูกดำเนินคดีล้วนแต่รับโทษกันหมดแล้ว เพราะฉะนั้นคิดว่าคงไม่มีการ Action อะไรมากมาย ปล่อยให้เป็นกลไกของสภา และมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะออกมาในลักษณะกลางๆ เพราะเป็นรัฐบาลพรรคผสม ที่พรรคร่วมต่างมีจุดยืนต่างกัน มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และเห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมเฉพาะคดีทางการเมือง ดังนั้นรัฐบาลคงไม่สามารถมีท่าทีแบบพรรคใดพรรคหนึ่ง

@ กังวลหรือไม่ว่า การผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้จะนำไปสู่เหตุการณ์เหมือนพ.ร.บ.สุดซอย

การชุมนุมทางการเมืองในยุคนี้มีการเปลี่ยนรูปโฉมไม่ได้ปักหลักพักค้างเหมือนก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ แม้ความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ดูเงียบไปในช่วง 2 ปี 3 ปีนี้ แต่ก็ยังไม่ได้หยุดการเคลื่อนไหว เพียงแต่ขยับเข้าไปสู่โลกไซเบอร์ ดังนั้น อาจจะไม่ง่ายที่จะเห็นภาพเหมือนในอดีต และไม่ง่ายที่จะเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดการรัฐประหาร

@ มองแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัจจุบัน อย่างไร

รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อกลางเดือนต.ค. และขณะเดียวกันก็มีบทบาท ของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง สภาผู้แทนราษฎรอีกทางหนึ่งที่คิดว่าไม่ได้ต่างกันมาก ในส่วนของคณะกรรมการศึกษานั้นได้มีการประชุม และรับฟังความคิดเห็นประชาชน และกลุ่มต่างๆ มีความคืบหน้าพอสมควร แต่หลายคนกังวลเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น ว่า จะเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้หรือไม่ หากคนมากใช้สิทธิ์ไม่ถึงกึ่งหนึ่งจะเป็นปัญหาทำให้รัฐธรรมนูญไม่สามารถดำเนินงานได้ จึงได้มีการมอบหมายให้ศึกษาเพิ่มเติมโดยมองไปถึงการแก้กฎหมายประชามติ โดย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องการแก้เพื่อลงมาประชามติรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ต้องแก้เพื่อเปิดกว้างสำหรับการทำประชามติในเรื่องอื่นๆในอนาคตด้วย และขณะเดียวกันก็จะศึกษาว่า ถ้าจะเสนอแก้มาตรา 256 คือให้มี สสร. จะทำอย่างไรเพื่อที่จะนำเสนอต่อสภาเพื่อดำเนินการพิจารณาต่อไป

เพราะฉะนั้นในช่วงระยะเวลาประมาณเดือนกว่า ที่ถือว่าได้อะไรที่เป็นข้อสรุปอยู่พอสมควรหลังจากนี้ไปก็จะมีกระบวนการในการเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นประชาชนที่ยังเหลืออยู่อีกประมาณ 3-4 เวที และคงจะมีการทำเป็นข้อเสนอในส่วนของคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำส่งคณะรัฐมนตรี  

อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า การดำเนินการย้อมเกิดข้อวิจารณ์จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เราก็ต้องรับฟัง โดยเฉพาะข้อวิจารณ์เรื่องซื้อเวลาหรือ ยื้อการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่เรื่องนี้คิดว่าเราต้องคุยโดยเอาวิทยาศาสตร์มาจับ อย่างที่บอก กรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2562566  มีกระบวนการในการทำงานมา ตั้งอนุกรรมการ 2 คณะ คืออนุ ฯ ประชามติ และอนุฯ รับฟังความคิดเห็น ที่เดินทางไปเดินทางพบปะกับพรรคการเมือง และประชาชนต่างๆ ในช่วงระยะเวลาเดือนกว่า ก็ถือว่าเราได้เห็นภาพพอสมควรในเรื่องในของการรับฟังความเห็น

ขณะที่เรื่องเทคนิคเราก็เห็นภาพเชิงกฎหมาย โดยเฉพาะอุปสรรคสำคัญคือคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ที่ ณ วันนี้ก็ยังมีการถกเถียงกันมากมาย ทั้งในสภา นอกสภา ประชาชนว่า ตกลงแล้วต้องทำประชามติกี่ครั้ง ส่วนคณะกรรมการชุดใหญ่ก็ประชุม 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนต.ค. ครั้งที่ 2 เดือน พ.ย. ดังนั้นระยะเวลาเพียงแค่เดือนครึ่ง ส่วนตัวคิดว่าก็ได้อะไรพอสมควร ถ้าเราเอา วิทยาศาสตร์มาจับและงานที่ออกมาก็ไม่ถึงกับจะต้องมองว่า “ยื้อเวลา” อะไร

“และมีโอกาสสูงที่ช่วงกลางปีหน้าน่าจะเห็นการลงประชามติครั้งแรกได้ ส่วนทุดท้ายจะสรุปว่าให้ทำ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้งก็ต้องรอว่า มีข้อสรุปอย่างไร”

@ มองเกมการเมืองในสภาที่จะถึงเร็วๆนี้อย่างไร

สิ่งที่น่าสนใจเมื่อเปิดสมัยประชุมในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ทางพรรคก้าวไกลน่าจะมีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในหลายๆ เรื่อง นอกจากนี้ในสภาก็จะมีการหยิบจับเอาเรื่องของรัฐธรรมนูญมาถกเถียงกันด้วย พอปีหน้า การกลับมาของนายทักษิณ ชินวัตร ก็จะเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่จะทำให้การเมืองไทยร้อนแรง แน่นอนว่านายทักษิณคงไม่กลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอะไรอีก แต่จะไม่ว่าจะสู่การเมืองในมิติที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตาม คนต้องจับตาดูอย่างกว้างขวางแน่นอนทั้งในและนอกสภา

“เชื่อว่าการเมืองภายในปีหน้าจะร้อนแรง และร้อนแรงกันตั้งแต่ต้นปีไปเลย จะเห็นกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ เดินหน้าไปเรื่อยๆ รวมถึงความขัดแย้งทางการเมือง ที่ทุกวันนี้ก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่รอจุดเปลี่ยน ที่ทำให้ปะทุออกมาเมื่อไหร่เท่านั้นเอง”

ความขัดแย้งที่ยังคงอยู่นั้นเห็นได้จากการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.2566 ซึ่งมีเพียง 3 พรรคการเมืองเท่านั้นที่ได้คะแนนส.ส. บัญชีรายชื่อ มากกว่า ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือก คือก้าวไกล, เพื่อไทย และรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเห็นชัดเจนว่าการลงคะแนนเป็นไปในลักษณะการแบ่งขั้วทางการเมือง คนอนุรักษ์นิยมก็เทไปที่รวมไทยสร้างชาติ ซึ่งชูพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่ง หรือฝ่ายก้าวหน้าก็เทไปที่ก้าวไกล กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็มีนโยบาย เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การไม่เอาอำนาจคสช ฯลฯ ส่วนพรรคอื่นๆ ที่ได้คะแนนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งมาจากปัจจัยหลากหลาย เช่น มาจากบ้านใหญ่ มาจากตระกูลการเมือง ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หรือเป็นบุคคลที่ช่วยเหลือชุมชนกันมา เป็นเหตุผลในลักษณะเฉพาะตัวของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น 3 พรรคการเมือง.