แม้รูปแบบของการเข้าไปสางปัญหา จะไม่มีอะไรใหม่ เพราะสุดท้าย !! ก็ต้องอาศัยกลไกของธนาคารของรัฐเข้ามาเป็นตัวรับหนี้ต่อ ควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มความแข็งแกร่ง เพื่อให้ลูกหนี้เดินหน้าต่อไปได้

แต่เพื่อให้นโยบายของรัฐบาลเป็นไปได้จริง ไม่ใช่ ปาหี่” ไม่ใช่แค่ ผักชี” รอบนี้ นายกฯเศรษฐา จึงได้กำหนดเป็นตัวชี้วัด เป็น เคพีไอ” ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องกำหนดให้ชัดเจน เพื่อให้งานบรรลุได้ตามเป้าหมาย

ถ้าแปลความง่าย ๆ แปลความบ้าน ๆ ก็คือ ใช้เคพีไอ มาเป็นตัววัดผลงาน!! นั่นแหล่ะ ทำได้ตามเป้าก็ได้รับความดีความชอบไป ถ้าทำไม่ถึงเป้า อะไรที่หวังไว้ ตั้งไว้ก็…แป้ก!!

เรียกได้ว่า…รอบนี้รัฐบาลเอาจริงเอาจัง ทำให้เห็น ทำให้ลูกหนี้มีศักดิ์มีศรี ไม่ใช่ว่าต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ต้องหนีเจ้าหนี้หัวซุกหัวซุน

อย่างที่เห็นกันอยู่ ทันทีที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าเอาจริงเอาจังกับการแก้หนี้นอกระบบ… บรรดาข่าวคราว ความเดือดร้อนของลูกหนี้ ก็มีออกมาให้เห็นกันแทบทุกวัน รวมไปถึงพฤติกรรมของเจ้าหนี้ วิธีการทวงหนี้

หลังจากป่าวประกาศ แนวทางการแก้หนี้นอกระบบไปแล้ว คราวนี้ก็มาถึง “การแก้หนี้ในระบบ” ที่นายกฯเศรษฐา เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกรอบในวันที่ 12 ธ.ค.นี้

ก็เป็นที่รู้กันดีอยู่ว่า แนวทางการแก้หนี้ในระบบ ก็หนีไม่พ้น เรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ การลดดอกเบี้ย การพักดอกเบี้ย การขยายเวลาในการชำระหนี้ และอีกหลากหลายแนวทาง

แต่!!ถ้าไม่ดำเนินการใด ๆ ก็อาจกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ดึงระบบเศรษฐกิจให้ติดหล่มได้ เพราะเวลานี้ข้อมูลล่าสุดจากระบบเครดิตบูโร หนี้เสียที่ค้างชำระเกิน 90 วัน เน่า หนี้เอ็นพีแอล ในไตรมาสที่สาม ของปี 66 ทะยานขึ้นมาถึง 1.05ล้านล้านบาท

หนี้จำนวนหนี้ สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า หรือไตรมาสสอง ของปี 66 ที่มีอยู่ 1.03 ล้านล้านบาท แม้จะยังไม่ใช่หนี้ที่สูงที่สุดเท่ากับปีที่แล้ว ที่ 1.09 ล้านล้านบาท ก็ตาม แต่หนี้ก้อนนี้กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่เร่งแก้ ไม่ทำอะไร ปัญหาย่อมบังเกิดแน่นอน

ไม่ต้องถาม? ว่า หนี้เน่าเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? แต่ปัญหาคือการก่อหนี้เกินตัว!! ที่สำคัญ จากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยเฉพาะจากปัญหาใหญ่อย่างหนี้ที่เกิดจากโควิด

ปัญหานี้… ก็มีแนวทางจากกระทรวงการคลัง ที่จะพักชำระหนี้วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย เป็นเวลา 1 ปี และลดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ

ส่วนลูกหนี้อีกกว่า 1 ล้านคน ที่กู้เงินฉุกเฉินโควิด 10,000 บาท ก็จะยกหนี้ที่ค้างจ่ายให้ เพราะรัฐบาลก่อนหน้านี้ได้กันเงินเพื่อชดเชยความเสียหายไว้ให้แล้ว 50% ของวงเงิน 30,000 ล้านบาท

แต่การยกหนี้ครั้งนี้ ก็ต้องมีเงื่อนไข เพราะที่ผ่านมา ลูกหนี้คิดว่าเงินกู้ฉุกเฉินเป็นเงินแจกที่รัฐบาลให้ เลยทำให้ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยไม่ใช้หนี้

ไม่เพียงเท่านี้ บรรดาข้าราชการ ทั้งครู ทั้งตำรวจ ที่ก็มีปัญหาไม่น้อยเช่นกัน  ซึ่งในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ก็จะหายใจหายคอได้มากขึ้น หลังจากนายกฯเศรษฐา จะประกาศออกมาอย่างชัดเจน

ก่อนหน้านี กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ประธานที่ปรึกษานายกฯ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ ได้ออกมาระบุแนวทางไว้ชัดเจนว่า จะมีการลดดอกเบี้ยลง โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค.67 เป็นต้นไป ก็เท่ากับว่า… เป็นการมอบของขวัญปีใหม่ให้กับลูกหนี้

ข้าราชการที่อยู่ในระบบเงินกู้สหกรณ์ ขณะนี้มียอดรวมทั้งสิ้น 3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำกระทรวงศึกษาธิการ 800,000 คน ข้าราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 230,000 คน และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข 200,000 กว่าคน

การลดอัตราดอกเบี้ยการชำระหนี้ของข้าราชการลง จะทำให้ข้าราชการ 1 ใน 3 ปลดหนี้ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว หากยังเหลือเงินไม่ถึง 30% จะใช้วิธีการขยายเงินต้นออกไปถึงอายุ 75 ปี ผลที่ตามมาคือจะช่วยให้เงินต้นลดลงได้

ทั้งหมด… ก็ต้องมาดูความชัดเจนของรัฐบาลว่าจะอุ้มลูกหนี้ในระบบเหล่านี้อย่างไร? แต่ปัญหาคือ ตราบใดที่เศรษฐกิจยังไม่อู้ฟู่ เงินในกระเป๋ายังไม่เพิ่มขึ้นเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่ทะยานมากขึ้นทุกวัน รวมไปถึงทัศนคติที่ถูกต้องของลูกหนี้

เชื่อเถอะ!! ปัญหาก็จะกลายเป็นวังวนเข้าอีหรอบเดิม!!.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”