เหลือเพียงอีกไม่กี่วัน…ก็จะก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่กันแล้ว!! เชื่อได้ว่าตลอดทั้งเดือนธ.ค.นี้ ทุกคนกำลังตกอยู่ในห้วงเวลาแห่งความสุข ที่จะได้เฉลิมฉลองกับเทศกาลแห่งความสุข ความสนุก รวมไปถึงของขวัญปีใหม่ที่ได้รับ

แต่หนึ่งในของขวัญปีใหม่ ที่หลายคนคงไม่ถูกอกถูกใจกันเท่าใดนัก… คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ค่าแรง” ที่รอบนี้ได้ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2-16 บาทเท่านั้น

อย่างที่บรรดาผู้ใช้แรงงานออกมาบ่นกันทั้งประเทศว่า ปรับแค่นี้!!ซื้อน้ำกิน 1ขวด ยังไม่ได้ด้วยซ้ำ!! แต่ในเมื่อคณะกรรมการไตรภาคี สรุปมาแล้ว ก็มีอันต้องยุติและใช้กันไป

แม้กระทั่งตัวนายกฯเศรษฐา ที่แสดงความไม่พึงพอใจมาตั้งแต่แรก ก็ต้องยอม!! เพราะเรื่องของการปรับค่าแรง จะให้การเมืองเข้ามาแทรกไม่ได้

ส่วนรอบหน้าที่จะปรับกันอีกครั้งเพื่อปลอบใจ!! ก็ต้องรอกันไปกลางปีหน้าโน่น ที่จะปรับกันตามรายอำเภอ-รายอาชีพ จะออกมาอย่างไร? ก็ต้องรอลุ้นกันต่อไป!!

ขณะที่การสังคายนาสูตรการคำนวณใหม่ในรอบ 6 ปี รูปร่างหน้าตา รายละเอียด จะไปตกลงกันที่ใด คงต้องขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการปรับสูตรการคำนวณค่าจ้าง ที่เตรียมเซ็ทตัวบุคคลในวันที่ 17 ม.ค.67 นี้

แม้ในความเป็นจริงแล้ว อัตราค่าจ้าง ค่าแรง ในเวลานี้ ก็เป็นไปตามทักษะ เป็นไปตามความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคนอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องของแรงงานที่มีฝีมือ

ต้องยอมรับว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ในปี 2570 หรือภายใน 4 ปี ถือว่าเป็นนึ่งในนโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทย ชูธงหาเสียงไว้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

แต่ความพยายามผลักดันค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบัน 328-354 บาท ให้ขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้กันไป หลังคณะกรรมการไตรภาคี ออกมายืนยันการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ 2-16บาท ตามมติเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้คณะกรรมการไตรภาคี 15 คน ได้ข้อสรุปตัวเลขการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประจำปี 2567 โดยเสนอให้จังหวัดภูเก็ตได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมากที่สุดอีก 16 บาท จาก 354 บาทเป็น 370 บาท

ขณะที่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นจังหวัดที่ถูกเสนอให้ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด คือได้เพิ่มขึ้น 2 บาท จากเดิม 328 บาทเป็น 330 บาทต่อวัน

ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่การขึ้นค่าแรงทั้งที ปรับเท่านี้!! ใคร ๆ ก็ห่อเหี่ยว เพราะเท่ากับว่าไม่ได้คุ้มค่ากับการใช้ชีวิต ที่ต้นทุนในแต่ละวันนั้นหนักหนาสาหัสยิ่งนัก

ส่วนบรรดากูรูก็หยิบยกสารพัดวิธีมาอรรถาธิบาย เพราะการขึ้นค่าแรง ย่อมไม่ถูกใจนายจ้างอยู่แล้ว เป็นเรื่องสัจธรรม เพราะเป็นอีกหนึ่งต้นทุนสำคัญ

“นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ บอกว่า การขึ้นค่าแรงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำหลักคิด “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” ที่สะท้อนค่าจ้างสำหรับแรงงานที่เพียงพอในการดูแลครอบครัว โดยดูแลคู่สมรสและบุตรอีก 1-2 คน มาคิดมาคำนวณรวมกันไปด้วย

Thaireform - นักเศรษฐศาสตร์หวั่นแจกเงินคนจน  สร้างความเคยตัว-ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

หลักการสำคัญของการคิด ค่าจ้างเพื่อชีวิต คือ การมีค่าจ้างในอัตราที่จะช่วยให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ โดยค่าจ้างเพื่อชีวิตจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการอยู่ในสังคม

อย่างไรก็ตาม หลักการของค่าจ้างเพื่อชีวิต ครั้งนี้จะก้าวเข้าไปสู่การปรับสูตรการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ ใหม่หรือไม่ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการฯที่เชื่อว่าในกลางเดือนม.ค. ปี 67 จะได้ตัวบุคคลที่ชัดเจน

แต่ที่แน่ ๆ ณ เวลานี้  รมว.แรงงาน ยืนยันไว้หนักแน่นว่า การขึ้นค่าแรงรอบสองจะเป็นของขวัญวันสงกรานต์ ให้กับบรรดาพี่น้องแรงงานแน่นอน ก็ต้องรอดูกันต่อไป!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”