ดร.พลเดช วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศศรีลังกา และสาธารณรัฐมัลดีฟส์ และกรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เปิดเผยว่า “ศิลปะยึกยือ” จากจุดเริ่มต้นของการนั่งมองความสวยงามของท้องทะเลมัลดีฟส์ สังเกตเห็นลายเส้นที่เกิดขึ้นขณะแสงแดดตกกระทบผิวน้ำ ที่กำลังเคลื่อนไหวตามระลอกคลื่น จึงได้จับปากกาลากเส้นวกวนไปมาเป็นภาพตามจินตนาการเกาะมัลดีฟส์ ในมหาสมุทรอินเดีย ภาพวาดซึ่งเกิดจากปากกาเพียงด้ามเดียวและกระดาษขนาดเอ 4 ที่หาได้ในขณะนั้น กลายเป็นภาพต้นแบบของลายเส้นศิลปะยึกยือในเวลาต่อมา ลายเส้นซึ่งดูเหมือนธรรมดาแต่ไม่ธรรมดาภาพหนึ่งภาพสามารถมีความหมายได้นับพันคำ และสื่อถึงเรื่องราวที่ผู้คนรับได้ จึงเกิดความคิดที่จะวาดภาพสัตว์ในรูปแบบลายเส้นศิลปะยึกยือเพื่อนำเสนอประเด็นของการอนุรักษ์สัตว์และสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ

จากประสบการณ์ที่ได้วาดและสอนศิลปะยึกยือเด็ก ๆ และเยาวชนกว่า 7 ปี พบว่าการนำศิลปะยึกยือ มาวาดภาพสัตว์ เช่น มาเรียม นกเงือก ช้าง เป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างความสนใจและการตระหนักรู้ของเด็ก ๆ ได้ดี เด็ก ๆ ตื่นเต้นและซาบซึ้งที่จะเรียนรู้เรื่องราวของสัตว์ต่าง ๆ ทำให้เกิดความรักและเมตตา เช่น กรณีของพะยูนมาเรียม ที่ตายเพราะกลืนขยะพลาสติกในทะเลเข้าไป เด็ก ๆ ตระหนัก ว่าการทิ้งขยะในทะเลจะสามารถทำร้ายสัตว์น้ำได้มากมาย หรือในกรณีของช้างน้อยที่ถูกฆ่าเพราะเพียงต้องการงาไปขาย ส่วนนกเงือก ก็ได้รับความสนใจในแง่ของการเป็นนกที่มีส่วนช่วยปลูกป่า เด็ก ๆ ส่วนใหญ่อยากวาดภาพสัตว์ที่ตัวเองสนใจและจะตั้งใจวาดมาก เมื่อวาดแล้วก็บอกว่ามีความสุขมาก จะนำภาพกลับไปบอกเล่าให้พ่อแม่ที่บ้านและเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนให้รับทราบด้วย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดซึ่งผู้ร่วมคิด ผู้ดำเนินการ ร่วมผลักดันที่สำคัญ เช่น คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมฯ ซึ่งเสียสละทุ่มเท แรงกายกำลังทรัพย์มาอย่างต่อเนื่องกว่า 27 ปี รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร ดร.เดวิด ไลแมน รศ.นุชทิพย์ บรรจงศิลป์ ศ.สพญ.ดร.อัจฉริยา ไศละสูต นสพ.อลงกรณ์ มหรรณพ อาจารย์อมรชุมศรี และคณะกรรมการบริหารทุกคน รวมทั้งผู้มีส่วนร่วม องค์กรพันธมิตรและประชาชนผู้รักสัตว์ทั่วไป ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย.