ยาสูบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวน ยาเส้น บุหรี่ไฟฟ้า ซิการ์ ไปป์ ยาสูบชนิดเคี้ยว ชนิดอม เป็นเพียงสื่อกลางที่จะนำสารเสพติดนิโคตินเข้าสู่ร่างกาย

การได้รับนิโคตินในบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า ยาสูบชนิดอื่น ๆ ทำให้เกิดการหลั่งสารที่ทำให้รู้สึกสบาย คลายเครียดในระยะสั้น (ซึ่งสารนี้มีการหลั่งจากสมองตามปกติ เวลาออกกำลังกาย เวลาที่มีความสุข สนุกสนาน การทำโยคะ นั่งสมาธิ การทำงานสำเร็จ ฯลฯ)

คนที่สูบบุหรี่เมื่อไม่ได้สูบสักพักหนึ่ง ระดับสารเคมีที่ทำให้รู้สึกสบายจะลดลงจนต่ำกว่าปกติ ทำให้รู้สึกไม่สบาย หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย กระวนกระวายและรู้สึกหดหู่ ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อได้สูบบุหรี่ (จากการได้รับนิโคติน ไปกระตุ้นให้สมองหลั่งสารที่ทำให้รู้สึกสบายเพิ่มขึ้น)

ในคนที่สูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้าจนติดแล้ว ความรู้สึกไม่สบายเมื่อไม่ได้สูบ (ไม่ได้รับนิโคติน) ทำให้เขาต้องรีบหาบุหรี่มาสูบ เพื่อขจัดอาการไม่สบายที่เกิดจากการขาดนิโคติน วงจรนี้เป็นสาเหตุที่คนสูบบุหรี่ส่วนใหญ่เลิกสูบไม่ได้ เสพติดไปจนตลอดชีวิต 

การเสพติดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า การใช้ยาสูบชนิดอื่น ๆ เป็นเดือนเป็นปี ทำให้ร่างกายได้รับอันตรายจากนิโคติน สารเคมีพิษชนิดต่าง ๆ โลหะหนัก และสารก่อมะเร็ง จนเกิดโรคกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

ล็อบบี้ยิสต์และเครือข่ายบริษัทบุหรี่ โฆษณาชวนเชื่อตลอดเวลาว่า นิโคตินในบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ

แต่ในความเป็นจริง นิโคตินเป็น “ยาพิษ” ต่อระบบประสาท (Neurotoxin) ที่ใช้ในยาฆ่าแมลง นิโคตินเองเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดทั่วร่างกาย เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง

นิโคตินกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ทำให้เพิ่มความเสี่ยงเป็นเบาหวาน 30-40% และทำให้คนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วควบคุมน้ำตาลยากขึ้น เกิดโรคแทรกซ้อนเร็วและรุนแรงขึ้น

นิโคตินยังมีฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเติบโตขยายตัวเร็วขึ้น (Tumor promoter) คนที่เป็นมะเร็งหากยังไม่เลิกสูบบุหรี่ ผลการรักษามะเร็งจะไม่ดีเท่าคนที่เลิกสูบบุหรี่

ที่สำคัญที่สุดคือ นิโคตินเป็นตัวทำให้คนที่สูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้าเลิกสูบได้ยาก แม้พยายามที่จะเลิก และหลักฐานจนถึงปัจจุบัน พบว่าวัยรุ่นที่ติดบุหรี่ไฟฟ้า ติดนิโคตินหนักกว่าวัยรุ่นที่ติดบุหรี่มวน และคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีแรงบันดาลใจที่จะเลิกสูบน้อย ซึ่งจะทำให้การเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า ยิ่งยากกว่าการเลิกสูบบุหรี่มวนที่ว่ายากแล้ว โดยวัยรุ่นไทย 10 คน ที่ติดบุหรี่มวน 7 คน จะเลิกไม่ได้ตลอดชีวิต ขณะที่ ใน 3 คนที่เลิกได้ โดยเฉลี่ยต้องใช้เวลาถึง 21 ปี

ซีอีโอของบริษัทบุหรี่จึงออกมาพูดว่า ผมเป็นพ่อแม่คน ผมมีความชัดเจนกับลูก ๆ ของผมว่า อย่าใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีนิโคติน

ข้อมูลจาก

ศาสตราจารย์ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

อ้างอิง

https://truthinitiative.org/sites/default/files/media/files/ 2022/03/Nicotine%20Use%20and% 20Stress_FINAL.pdf

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์