กรณีตัวแทนประกันชีวิตได้รับค่าคอมมิชชั่นจากบริษัทฯ จำนวน 1 ล้านบาท ซึ่งตัวแทนฯ ได้นำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครบถ้วนแล้ว (สมมติ คิดเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวน 300,000 บาท)

ต่อมาในปีปัจจุบัน บริษัทฯ ได้เรียกคืนค่าคอมมิชชั่นดังกล่าวคืนจากตัวแทนฯ ทั้งจำนวน ตัวแทนฯ จึงประสงค์จะขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอันตนได้ชำระไว้เกินไปนั้น จากกรมสรรพากร ตัวแทนฯ พึงต้องดำเนินการดังนี้

กรณีที่ตัวแทนฯ มีเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นที่ยังคงต้องเสียภาษีเงินได้ ให้กรอกแบบ ภ.ง.ด.90 ใหม่โดยลดยอดเงินได้ค่าคอมมิชชั่นจำนวนที่ถูกเรียกคืนลง แล้วคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ แล้วลงนามขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวนดังกล่าว พร้อมหลักฐานประกอบ

แต่ถ้าไม่มีเงินได้อื่นใด ให้ตัวแทนฯ กรอกแบบ ค.10 แสดงเหตผลความจำเป็นในการขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวนดังกล่าวว่า เป็นผลมาจากการใด มีเอกสารประกอบการขอคืน ดังนี้

(1) สำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ภ.ง.ด.90 ของปีก่อน
(2) ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามแบบ ภ.ง.ด.90 ของปีก่อน
(3) หลักฐานการเรียกคืนค่าคอมมิชชั่นจากบริษัทฯ ซึ่งแสดงเหตุผลความจำเป็นที่เรียกคืนเงินดังกล่าว
(4) หลักฐานใบรับเงินค่าคอมมิชชั่นที่บริษัทฯ ออกให้
(5) หลักฐานอื่นๆ (ถ้ามี)

กำหนดเวลาขอคืน ภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ของปีก่อน ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

คำร้องขอคืนตามกรณีนี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ได้แก่ แบบ ค.10 และให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาท้องที่ที่ผู้มีสิทธิขอคืนมีภูมิลำเนาหรือ ณ สถานที่อื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด.