ผู้เป็นเบาหวานมีอายุขัยเฉลี่ยสั้นกว่าผู้ไม่ได้เป็นเบาหวานประมาณ 6-7 ปี ในเพศและวัยเดียวกัน และอายุขัยที่ลดลงนี้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับระยะเวลาการเป็นเบาหวาน อายุที่เริ่มเป็นเบาหวาน การควบคุมเบาหวานรวมทั้งการควบคุมโรคร่วมและปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ น้ำหนักตัวเกิน เป็นต้น ผู้ที่เป็นเบาหวานมานาน เริ่มเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุน้อย และ/หรือ ควบคุมเบาหวานและโรคร่วม/ปัจจัยเสี่ยงได้ไม่ดี จะมีอายุขัยสั้นกว่าผู้เป็นเบาหวานที่เพิ่งเป็น หรือ ผู้ที่ควบคุมเบาหวานและโรคร่วม/ปัจจัยเสี่ยงได้ตามเป้าหมาย มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่แสดงให้เห็นว่า การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเข้มงวด รวมทั้งการควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับไขมันคอเลสเทอรอล โดยเฉพาะ แอล ดี แอล คอเลสเทอรอล สามารถลดอัตราการเสียชีวิตรวม (all-cause mortality) และการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในผู้เป็นเบาหวานทั่วโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ

สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เป็นเบาหวานในประเทศไทยยังมีข้อมูลค่อนข้างจำกัด การศึกษาที่ใหญ่ที่สุดเป็นการศึกษาจากศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่และโรงเรียนแพทย์จำนวน 12 สถาบันทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2546 ในผู้เป็นเบาหวานจำนวน 9,419 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ (ร้อยละ 95) เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ติดตามนาน 3 ปี พบว่า สาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด (ร้อยละ 28) รองลงมา คือ โรคติดเชื้อ (ร้อยละ 21) มะเร็ง (ร้อยละ 19) และ ไตวายเรื้อรัง (ร้อยละ 9)

มีการศึกษาอีก 2 การศึกษาในผู้เป็นบาหวานจำนวนไม่มากนัก การศึกษาแรกในปี พ.ศ.2540 ทำการศึกษาในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 229 ราย ในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ติดตามนาน 4 ปี สาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อย ได้แก่ โรคติดเชื้อ (ร้อยละ 31) รองลงมา ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด (ร้อยละ 24) ไตวายเรื้อรัง (ร้อยละ 17) และ มะเร็ง (ร้อยละ 10) อีกการศึกษาทำในปี พ.ศ. 2556 ในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 1,097 ราย ในศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข ติดตามนาน 4 ปี สาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อย ได้แก่ โรคติดเชื้อ (ร้อยละ 25) โรคหัวใจและหลอดเลือด (ร้อยละ 25) มะเร็ง (ร้อยละ 12.5) และไตวายเรื้อรัง (ร้อยละ 5)

ถึงแม้ว่าการศึกษาดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมประชากรไทยทั่วประเทศ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งสามการศึกษาซึ่งทำการศึกษาในช่วงเวลาและพื้นที่ที่แตกต่างกัน แต่ให้ผลการศึกษาใกล้เคียงกัน สาเหตุการเสียชีวิตในผู้เป็นเบาหวานในประเทศไทยมีความแตกต่างจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาที่พบว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อยที่สุดในผู้เป็นเบาหวาน โดยพบสูงถึงร้อยละ 50-70 ในขณะที่ประเทศไทยพบในสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก และพบว่าโรคติดเชื้อยังเป็นสาเหตุที่สำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ผู้เป็นเบาหวานไทยเสียชีวิต สาเหตุการเสียชีวิตที่แตกต่างกันของผู้เป็นเบาหวานในประเทศไทยและประเทศทางตะวันตก อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความแตกต่างในการควบคุมเบาหวานและปัจจัยเสี่ยงได้ตามเป้าหมาย ความแตกต่างของระบบสาธารณสุข ความรอบรู้ทางสุขภาพ (health literacy) ความแตกต่างทางพันธุกรรม เป็นต้น

ดังนั้นนอกเหนือไปจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โรคร่วมและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรังแล้ว การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อที่พบบ่อย เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ เป็นต้น รวมทั้งการตรวจคัดกรองมะเร็งที่พบบ่อย เช่น มะเร็งตับ ต้านม ลำไส้ใหญ่ เยื่อบุมดลูก ต่อมลูกหมาก จึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในผู้เป็นเบาหวาน

ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชลิต รัตรสาร สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ

ขอเชิญผู้ที่มีสุขภาพดี บริจาคโลหิตสำรองคงคลัง เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยทั่วประเทศ สอบถามสถานที่บริจาคโลหิตได้ที่ โทร. 0-2256-4300 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มาตรฐานโลก

ปัญหาครอบครัว – พ่อ/แม่ทะเลาะกันบ่อย พี่น้องอิจฉากัน ปรึกษาสายด่วนสุขภาพ 1323 ในเวลาราชการ

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์