วันที่ 22-23 ม.ค.นี้ รัฐบาล “เศรษฐา” เตรียมยกคณะไปตรวจราชการและประชุมครม.สัญจร ที่จ.ระนอง ซึ่งเป็นการประชุมครม.นอกสถานที่เป็นครั้งที่ 2 ของรัฐบาลชุดนี้
ว่ากันว่า…บรรดาภาคเอกชนโดยผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หรือกรอ. กลุ่มจังหวัดภาคใต้ ก็เตรียมสารพัดโครงการพัฒนาภาคใต้ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด เพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณา รวม ๆ กันแล้วก็มีมูลค่ากว่า 750 ล้านบาท
ทั้งโครงการท่าเรือมารีน่าชุมชน 1 จังหวัด 1 ท่าเรือ รวม 6 ท่า ใน 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ทั้งโครงการของดีจังหวัดอันดามัน 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ระนอง กระบี่ เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้เป็นสินค้าพรีเมียม
โครงการถนนเพชรเกษมจากระนองไปพังงา ที่บางช่วงยังเป็น 2 เลน ปรับให้เป็น 4 เลนตลอดสาย โครงการถนนสายราชกรูด-ชุมพร (หลังสวน) ที่มีรถใช้สัญจรมาก แต่ยังเป็นถนน 2 เลนที่วิ่งสวนทางกัน จึงต้องเร่งพัฒนาให้สามารถรองรับการเดินทางระหว่างชุมพรกับระนองให้ดีกว่านี้
หรือแม้แต่โครงกาปรับปรุงถนนจัดสรรพัฒนา โครงการปรับปรุงท่าเรือระนอง – เกาะสอง ที่เป็นทั้งท่าเรือข้ามฟาก ท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว ท่าเรือขนส่งสินค้า ที่เชื่อมโยงการค้า การขาย การท่องเที่ยวระหว่างไทยกับเมียนมา ที่สำคัญ
ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายโครงการที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเพื่อนำไปสู่เมกะโปรเจกต์ อย่าง “แลนด์บริดจ์” มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท
ที่ผ่านมานายกฯ เศรษฐา ทวีสิน หอบโครงการแลนด์บริดจ์ ไปขายฝันใหักับนักลงทุนทั่วโลก เพื่อหวังดึงดูดให้เข้ามาร่วมลงทุน โดยแลกกับสัมปทาน 50 ปี
“แลนด์บริดจ์” หรือสะพานเศรษฐกิจ คือการสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างท่าเรือในชุมพรและระนอง (อ่าวไทย–อันดามัน) ประกอบด้วยทางหลวงพิเศษ 6 ช่องจราจร ระยะทาง 90 กม. มีทางรถไฟเชื่อมทั้ง 2 จังหวัด มีการสร้างระบบการขนส่งทางท่อ รวมทั้งต้องสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่ง ให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย
เป้าหมายสำคัญ!! ก็เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาความแออัดของช่องแคบมะละกา ช่วยลดการเดินทาง ลดต้นทุนได้มากถึง 15%
ไม่เพียงเท่านี้… ยังสามารถช่วยสร้างงานให้คนในพื้นที่ และที่เหนือกว่านั้น ทั้งหลายทั้งปวงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
วงเงินลงทุนของเมกกะโปรเจคท์นี้ จะนำไปใช้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก พัฒนาพื้นที่ รวมไปถึงการสร้างระบบขนส่ง ที่คาดหมายตั้งเป้าไว้ว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 72
เมกะโปรเจกต์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่นโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง แต่เป็นโครงการในสมัยของ “ลุงตู่” หลังกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือเอสอีซี เมื่อวันที่ 4 ก.พ.64
ต่อมาในเดือนธ.ค.ปีเดียวกัน “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคมในขณะนั้น ได้สั่งให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเป็นไปได้ พร้อมนำโครงการนี้ไปเปิดตัวเป็นครั้งแรกต่อผู้นำนานาชาติ เป็นครั้งแรก ในการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 เมื่อ14 ก.ย.65
ความพยายามในการผลักดันโครงการนี้ ไม่สามารถเสนอครม.ได้ทัน เพราะรัฐบาล “ลุงตู่” ได้ยุบสภาไปซะก่อน !!โดยที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยและรวมไทยสร้างชาติ ยังนำมาเป็นนโยบายในการหาเสียง และต้องการให้รัฐบาลสานต่อโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง
แม้รัฐบาลโดยเฉพาะเซลล์แมน “เศรษฐา” ได้เดินหน้าขายฝันโครงการแลนด์บริดจ์อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่วายที่ต้องตกเป็นเรื่อง “การเมือง”
ก็เป็นเรื่องธรรมดา!! เพราะทุกโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาล และยิ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินมหาศาล ก็หนีไม่พ้นที่ “ฝ่ายค้าน” ต้องทำหน้าที่แบบครบเครื่อง
หน้าที่จึงต้องตกอยู่ที่รัฐบาล ที่ต้องฝ่าฟัน ต้องชี้แจง ต้องอธิบาย ถึงผลลัพธ์ที่ต้องเน้นประเทศ เน้าประชาชนคนไทย ที่จะได้รับให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
หากทุกอย่าง!! ชี้แจงได้ ตอบได้ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง จนทำให้ประเทศต้องได้รับผลกระทบ
เชื่อเถอะ!! ถ้าทำได้ คนไทยก็จะจำได้ เหมือนผลงานของรัฐบาลในอดีตนั่นแหล่ะ!!
—————————-
ช่อชมพู