สัปดาห์นี้พาไปเช็กลิสต์โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับในปี 2567 ของกรมทางหลวง(ทล.) เพิ่มความฉิวการเดินทาง พิกัดไหนบ้างติดตามกันได้เล้ยย!!

ก่อนประกาศรายชื่อ  ทำความเข้าใจนิยาม”ทางแยกต่างระดับ” สำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบกันก่อน  ทางแยกต่างระดับ (interchange) คือทางแยกที่เป็นจุดตัดกันหรือเชื่อมกันของถนนตั้งแต่ 2 สายขึ้นไป ในการออกแบบก่อสร้างทางแยกต่างระดับ  จะพิจารณาจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างและฟังก์ชันการใช้งาน  อาทิ สะพานข้ามทางแยก ทางลอด(อุโมงค์)  หรืออาจผสมผสานวงเวียนยกระดับ (ลอยฟ้า) วงเวียนพื้นราบรูปเลข 8 เป็นต้น  เพื่อลดจุดตัดแก้ไขปัญหาการจราจรให้เดินทางได้ลื่นไหลคล่องตัวขึ้น รวมทั้งป้องกันและลดปัญหาอุบัติเหตุ 

กรมทางหลวง ขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2567 ก่อสร้างทางแยกต่างระดับ 7 โครงการ วงเงินรวม 7,140 ล้านบาท  วางแผนจัดซื้อจัดจ้างภายในปีงบฯ 2567 ก่อสร้าง2-3ปี แล้วเสร็จในปี2569-2570 ดังนี้   1.ทางแยกต่างระดับ (รูปแบบสะพานข้ามแยก)  3 โครงการ วงเงินก่อสร้าง 2,520 ล้านบาท ประกอบด้วย 

1.จุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 (ทล.42)กับทล. 410 (แยกตะลุโบะ) จ.ปัตตานี วงเงิน 900 ล้านบาท    ข้ามจุดตัดทางแยกแนว ทล.42 (สายคลองแงะ-จุดผ่านแดนถาวรสุไหงโก-ลก (เขตแดนไทย/มาเลเซีย) หรือ ถนนเพชรเกษม สายปัตตานี-นราธิวาส เชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานีด้านฝั่งแยกตะลุโบะ เป็นสะพานคู่ขนานขนาด 4 ช่อง ใต้สะพานปรับปรุงเป็นสี่แยกสัญญาณไฟจราจรแนวถนนยะรัง และ ทล.410 สายปัตตานี-เบตง พร้อมจุดกลับรถใต้สะพานทั้ง 2 ฝั่ง ปรับทิศทางการจราจรเป็นเดินรถทางเดียว 

2. จุดตัดทล.4(ถนนเพชรเกษม)กับทล.3337 และทล. 3339 (แยกห้วยชินสีห์) จ.ราชบุรี วงเงิน 970 ล้านบาท และ
3.จุดตัดทล. 367กับทล. 324 (แยกวังสารภี) จ.กาญจนบุรี วงเงิน 650 ล้านบาท

2.ทางแยกต่างระดับ (รูปแบบทางลอด)  4 โครงการ วงเงิน 4,620.00 ล้านบาท ประกอบด้วย   
1.จุดตัดทล. 402 กับทล.4027 (แยกท่าเรือ) จ.ภูเก็ต วงเงิน 2,380 ล้านบาท รวมปรับปรุงอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต  รูปแบบทางลอดขนาด 3 ช่องจราจร ลอดใต้อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร แนว ทล.402 ทิศทางออกนอกเมืองมี 2 ช่อง และทิศทางเข้าเมืองมี 1 ช่อง ด้านบนมีทางขนานฝั่งละ 2 ช่อง  มีทางเท้า  และด้านบนทางลอดคงรูปแบบวงเวียนขนาด 2 ช่องวนรอบอนุสาวรีย์ 

พร้อมออกแบบระบบสัญญาณไฟจราจรทางแยกเพื่อความปลอดภัย ออกแบบด้านสถาปัตยกรรม รวมถึงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือแลนด์มาร์คที่สำคัญของ จ.ภูเก็ต ให้เดินลอด อนุสาวรีย์ฯได้อย่างสะดวกและปลอดภัย   

2.จุดตัดทล. 367 ทล. 323 และทล. 3199 (แยกแก่งเสี้ยน) จ.กาญจนบุรี วงเงิน 900 ล้านบาท  
3.จุดตัดทล. 2 (ถนนมิตรภาพ)กับถนนเข้าเมืองสีคิ้ว (แยกเข้าเมืองสีคิ้ว) จ.นครราชสีมา วงเงินก่อสร้าง 650 ล้านบาท และ 4.จุดตัดทล. 32 ตัดทล. 3212 (แยกหางน้ำสาคร) จ.ชัยนาท วงเงิน 690 ล้านบาท

สำหรับทางต่างระดับแยกหางน้ำสาคร อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท  มีความโดดเด่น(ไฮไลท์) นอกจากเป็นทางลอดแล้ว จะผสมผสานด้วยรูปแบบการก่อสร้างวงเวียนลอยฟ้าขึงด้วยสายเคเบิ้ลแห่งแรกของประเทศไทย  เนื่องจากแยกหางน้ำสาครเป็นจุดเชื่อมระหว่างทล.32หรือถนนสายเอเชียกับทล.3212 (สายคุ้งสำเภา – หนองโพเชื่อม จ.ชัยนาทกับนครสวรรค์) ที่ผ่านมา ทล. เสนอของบฯก่อสร้างโครงการมาโดยตลอดเพราะเป็นเส้นทางหลักเชื่อมกรุงเทพฯสู่จังหวัดภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง  แต่ไม่ได้รับพิจารณางบฯเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลมีข้อจำกัดจัดสรรให้โครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนและมีความต่อเนื่องก่อน

รูปแบบก่อสร้างเป็น  2 ระบบคือทางยกระดับแบบวงเวียน(Round about Interchange)  บนจุดตัดแยกทล.32 กับ ทล. 3212 ขนาด 2 ช่อง กว้างช่องละ 4.5 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2 เมตร พร้อมทางเท้ากว้าง 1.2 เมตร  เดินทางอิสระโดยไม่ติดสัญญาณไฟวิ่งเป็นวงกลมด้านทิศเหนือไปออก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ทิศใต้ไปอ.เมือง จ.ชัยนาท และ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ทิศตะวันออกไป ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ทิศตะวันตกไปต.คุ้งสำเภา จ.ชัยนาท รวมทั้งเชื่อมจ.อุทัยธานีด้วย

โครงสร้างวงเวียนเป็นสะพานพื้นตัน ออกแบบสถาปัตยกรรมกลางวงเวียนเป็นเสาเหล็กคู่ขึงด้วยสายเคเบิ้ลไขว้ทะแยง ใช้ลวดลายธรรมจักรศิลาและเหรียญโบราณสะท้อนความเป็นมาของชุมชนโบราณและอัตลักษณ์ประจำจังหวัดคือพระธรรมจักร  สร้างความภาคภูมิใจแก่ท้องถิ่น   

ทางลอดใต้วงเวียนบนทล.32 ผ่านสี่แยกโดยไม่ติดสัญญาณไฟ  จากกม.138+050-139+625 ยาว 1,575 เมตรผิวทางคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 6 ช่อง หรือ 3 ช่องต่อทิศทาง กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.5 เมตร และไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร 

นอกจากนี้ยังออกแบบถนนคู่ขนานทล.32 ให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมทางเปลี่ยนทิศทางการจราจรสู่ทล.3212 ได้ 2 ช่องกว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.7 เมตร พร้อมปรับปรุงทางเท้าและระบบระบายน้ำ   พื้นที่ก่อสร้างใช้เขตทางเดิมไม่ต้องเวนคืนบ้านเรือนประชาชนรวมทั้งสถานที่ราชการบริเวณใกล้เคียงซึ่งมีจำนวนมาก

ทางต่างระดับแยกหางน้ำสาคร จะเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางด้วยความฉิวไปพร้อมๆกับอีก6จุดในปี 2569-2570  

————————
นายสปีด