ถูกกำหนดในแผนก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมไว้ตั้งแต่รัฐบาลก่อน สำหรับ 2 สนามบินแห่งใหม่  ท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 และท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 แม้เปลี่ยนรัฐบาล นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ก็ประกาศเดินหน้าต่อและให้เร่งรัดการก่อสร้างทั้ง 2 สนามบินเพื่อรองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยว โดยตั้งชื่อเก๋ๆ คล้องจองกันด้วยว่า  สนามบินล้านนาและสนามบินอันดามัน

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. อัปเดตสถานะ 2 โครงการว่า  ทอท. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) ศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ความคุ้มค่าการลงทุนโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (สนามบินอันดามัน) จะแล้วเสร็จเดือนส.ค.2567 จากนั้นจะเสนอผลศึกษาคณะกรรมการ(บอร์ด) ทอท. , สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) และกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา หากเห็นชอบ ทอท. จะศึกษาออกแบบรายละเอียด จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ก่อนเสนอ ครม. อนุมัติก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2571 แล้วเสร็จเปิดบริการประมาณปี 2574

โดยใช้พื้นที่บริเวณ ต.โคกกลอย และ ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ประมาณ 7,300 ไร่ เนื่องจากผลการศึกษาเบื้องต้นที่ ทอท. เคยศึกษาไว้เป็นพื้นที่เหมาะสมและมีศักยภาพมากที่สุด อีกทั้งแนวร่อนลงของอากาศยานไม่มีภูเขาเป็นอุปสรรคทำการบินลงจอด

เดือน ธ.ค.2566  ท่าอากาศยานภูเก็ต(ทภก.) มีผู้โดยสาร 1.46 ล้านคน คิดเป็น 86% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2562 ซึ่งอยู่ที่ 1.7 ล้านคน มี 8,667 เที่ยวบิน คิดเป็น 85.31% ของเดือน ธ.ค.2562 ที่มี 10,160 เที่ยวบิน ภาพรวมถือว่ากลับมาเกือบใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ภายในสนามบินเริ่มหนาแน่นโดยเฉพาะในส่วนของระหว่างประเทศ 

ข้อจำกัดของทภก.มีเพียง 1 ทางวิ่ง(รันเวย์) รองรับเที่ยวบินเต็มแม็กซ์แล้ว 25 เที่ยวบินต่อชม. ขยายรันเวย์ไม่ได้เนื่องจากพื้นที่ติดทะเล แม้จะมีแผนพัฒนาทภก. ระยะที่ 2 ก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่วงเงิน 5,800 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มจาก 12.5 ล้านคนต่อปีเป็น18 ล้านคนต่อปี จะเปิดบริการปี 2572-2573 แต่รองรับได้ 25 เที่ยวบินต่อชม.เท่าเดิม จึงเร่งก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามันรองรับนักท่องเที่ยวจ.ภูเก็ต และจ.พังงา 

 เดิมท่าอากาศยานแห่งใหม่จะรองรับทั้งการเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ แต่เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องปรับแผนก่อสร้างให้ท่าอากาศยานอันดามันรองรับเฉพาะเที่ยวบินและผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นหลัก แต่จะให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศบางเส้นทางที่ทำการบินระหว่างจังหวัด(Point – to – Point) หรือแบบต่อเครื่องบิน (Connecting Flight) ด้วย  ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ตเดิมเน้นรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารภายในประเทศ แต่จะให้บริการระหว่างประเทศบางเที่ยวบินเช่นกัน

เบื้องต้นจะใช้วงเงินลงทุนท่าอากาศยานอันดามัน 8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงานเขตการบิน 2.8 หมื่นล้านบาท, งานอาคารผู้โดยสาร 2.5 หมื่นล้านบาท, งานสนับสนุนและสาธารณูปโภค 1.5 หมื่นล้านบาท และสำรองราคาและภาษี 1.2 หมื่นล้านบาท มี 2 รันเวย์ รองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปี 43 เที่ยวบินต่อชม. จะจัดระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานอันดามันที่อยู่ห่างกันประมาณ 23.4 กม.ใช้เวลาเดินทาง 26 นาที

ด้านพล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการทอท. จะเพิ่มพลังให้สนามบินภูเก็ตด้วยการสร้างสนามบินน้ำ(Water Aerodrom) หรือ Seaplane Terminal แห่งแรกในไทย  เพื่อรองรับการเปิดบริการธุรกิจเครื่องบินทะเล (Seaplane) ในไทย เป็นอีกทางเลือกในการเดินทางให้นักท่องเที่ยวและช่วยลดความแออัดภายในสนามบินด้วย 

พล.ต.อ.วิสนุ แจกแจงว่า  ทอท. อยู่ระหว่างศึกษาสร้าง Seaplane Terminal ที่ ทภก.และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เพราะอยู่ติดกับทะเล ในลักษณะเดียวกับที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และมัลดีฟส์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่มาก และใช้เวลาก่อสร้างไม่นาน เพราะมีเพียงแค่อาคาร และท่าเทียบเรือ เพื่อใช้เป็นที่ขึ้นลงในน้ำ ได้กำชับให้ ทอท. เร่งดำเนินการเพื่อเปิดบริการได้ภายใน 1-2 ปีนี้ จะทำให้การเดินทางของผู้โดยสารจาก ทภก. ไปท่องเที่ยวยังเกาะต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต และเกาะในพื้นที่ต่างๆ อาทิ สมุย หัวหิน และพัทยา สะดวกรวดเร็ว ช่วยลดเวลาเดินทางได้มากขึ้น ผู้ประกอบการเอกชนอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินธุรกิจและพร้อมเปิดบริการSeaplane ในไทย              

ต้นปี 2568 จะเปิดประกวดราคาและก่อสร้างได้ มั่นใจว่ามีปริมาณนักท่องเที่ยวต้องการเดินทางด้วย Seaplane สูง ผู้ประกอบการเอกชนเริ่มติดต่อสอบถามรวมทั้งสนใจเปิดทำการบิน Seaplane  แล้ว  

เครื่องบินทางทะเล (Seaplane) สามารถบินขึ้น/ลงในน้ำและขึ้น/ลงจอดบนสนามบินปกติได้ด้วยหรือที่เรียกว่าเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก ได้รับความนิยมมากทั่วโลก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวทางทะเล และหมู่เกาะ เนื่องจากใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าทางเรือปกติมาก เป็นอีกทางเลือกในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.)  ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของประเทศ กำลังเร่งออกกฎ ระเบียบข้อบังคับและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสนามบินน้ำหรือที่ขึ้น-ลงชั่วคราวทางน้ำ  

สำหรับการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานล้านนา)   ทอท.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศึกษาความเหมาะสม และความคุ้มค่าการลงทุนโครงการฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2567 ก่อนหน้านี้ศึกษาไว้บ้างแล้ว แต่ค่อนข้างนาน ข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลงไป ไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน จึงต้องศึกษาอีกครั้ง พื้นที่ศึกษาฯ เดิม อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ประมาณ 5-6 พันไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท  หลังศึกษาเสร็จต้องผ่านกระบวนการต่างๆ รวมเวลาก่อสร้างประมาณ 7 ปี ใกล้เคียงกับสนามบินอันดามันจะเปิดบริการประมาณปี 2573-3574 

3สนามบินแห่งใหม่…ล้านนา อันดามัน และสนามบินน้ำ จะเพิ่มสนามบินให้ประเทศไทยรวมเป็น 42  แห่งจากเดิม 39 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของทอท.  6 แห่ง  กรมท่าอากาศยาน(ทย.)  29 แห่ง กองทัพเรือ  1 แห่ง และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)  3 แห่ง 

——————
นายสปีด