โดยการตรวจน้ำตาลในเลือดสามารถตรวจวัดได้ทั้งระดับน้ำตาลก่อนอาหาร หลังอาหาร ก่อนนอน หรือก่อนการออกกำลังกาย เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ หรือปรับเพิ่ม หรือลดปริมาณยาฉีดอินซูลินในผู้เป็นเบาหวานที่ได้รับการรักษาด้วยอินซูลิน โดยเฉพาะในกรณีที่ควบคุมระดับน้ำตาลค่อนข้างยาก และใช้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อไปติดตามการรักษากับแพทย์ผู้ดูแล เพื่อช่วยให้แพทย์ปรับขนาดยาที่ในการรักษาให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และอยู่ในเป้าหมายที่ต้องการได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองยังสามารถตรวจได้ในทุกช่วงเวลาที่สงสัย หรือมีอาการที่เข้าได้กับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือสูงเกินกว่าปกติ และยังสามารถช่วยในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง เพื่อให้ผู้ป่วย และ/หรือผู้ดูแลสามารถให้การแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

แม้การตรวจวัดระดับน้ำตาลสามารถตรวจได้ตลอดเวลา แต่ควรตรวจเมื่อไร และบ่อยครั้งเพียงใดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิดของโรคเบาหวาน ชนิดของยาที่ใช้ เป้าหมายระดับน้ำตาลในเลือดที่ต้องการในผู้เป็นเบาหวานรายนั้นๆ เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม แนะนำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอย่างน้อย 1-4 ครั้งต่อวันในผู้เป็นเบาหวานทุกชนิดที่ได้รับยาฉีดอินซูลิน โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดอินซูลินวันละหลายครั้ง หรือในผู้ได้รับอินซูลินอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา หรือติดเครื่องอินซูลินปั๊ม ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลวันละหลายครั้ง บางรายอาจต้องตรวจทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร รวมทั้งก่อนนอน เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดระดับน้ำตาลต่ำ และเป็นกลุ่มที่มีความแปรปรวนของระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างวันค่อนข้างสูง

นอกจากนั้น แนะนำตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองในผู้เป็นเบาหวานที่มีภาวะ ดังต่อไปนี้

–  เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทั้งผู้ที่ฉีดหรือไม่ฉีดอินซูลิน แนะนำตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ

  มีภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลัน ซึ่งอาจส่งผล หรือมีแนวโน้มทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือต่ำจากภาวะปกติ เนื่องจากตัวโรคที่เป็น และการรับประทานอาหารมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่มีความเจ็บป่วย แนะนำให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดให้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยอินซูลิน

  ผู้ที่เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยๆ หรือเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง หรือเคยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในช่วงดึกๆ หรือเคยมีประวัติน้ำตาลต่ำในเลือดโดยไม่มีอาการเตือนนำมาก่อน ซึ่งผู้เป็นเบาหวานกลุ่มนี้มักจะได้รับการรักษาด้วยอินซูลิน มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำแบบรุนแรง

Free photo hand holding a blood glucose meter measuring blood sugar, the background is a stethoscope and chart file

ผู้เป็นเบาหวานส่วนใหญ่มักตรวจติดตามระดับน้ำตาลเฉพาะก่อนอาหาร แนะนำให้ตรวจติดตามระดับน้ำตาลหลังอาหารร่วมด้วย เพื่อช่วยให้ผู้เป็นเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมายได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในรายที่สงสัยว่าอาจมีระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหารสูง เช่น กรณีที่ระดับน้ำตาลก่อนอาหารได้ตามเกณฑ์เป้าหมาย แต่ระดับน้ำตาลสะสม หรือค่าเฉลี่ย หรือค่าฮีโมโกลบินเอวันซียังเกินเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งในกรณีนี้มักเกิดจากระดับน้ำตาลหลังอาหารที่สูง

อย่างไรก็ตาม ความถี่ห่างในการตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดในผู้เป็นเบาหวานแต่ละรายขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการรักษา นอกจากนี้ควรมีการตรวจเช็คเครื่องกลูโคสมิเตอร์ หรือเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะ เพื่อความแม่นยำของระดับน้ำตาลที่ตรวจวัดได้จากเครื่อง

ข้อมูลจาก รศ.พญ.ระวีวรรณ เลิศวัฒนารักษ์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์