การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ (ทางด่วน) เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมทางถนนของประเทศให้มากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอีก 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 254.4 กม. วงเงินประมาณ 4.47 แสนล้านบาท ภายใน 8-9 ปีนับจากนี้ หรือไม่เกินปี 2575 ……. ในจำนวนนี้  มี 2 โครงการที่จะเป็นทางด่วน 2 สายแรกของประเทศไทย ที่รองรับการเดินทางเชื่อมเกาะช้างและเกาะสมุย แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง

โครงการทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด กทพ. อยู่ระหว่างคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม วงเงินประมาณ 72 ล้านบาท คาดว่าจะคัดเลือกแล้วเสร็จและลงนามสัญญาผู้รับจ้างได้ประมาณเดือน มี.ค. 2567 ใช้เวลาศึกษา 2 ปี

เบื้องต้นโครงการมีจุดเริ่มต้นในพื้นที่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด ข้ามทะเลอ่าวไทย สิ้นสุดโครงการที่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด มีระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันการเดินทางไปเกาะช้างใช้ทางน้ำเท่านั้น ไม่สะดวกต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ต้องรอลงเรือเฟอร์รี่นานถึง 2-3 ชม. ทั้งขาไปขากลับ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลสำคัญ

อีกทั้งการอาศัยบริการเรือเฟอร์รี่เพียงวิธีเดียว ทำให้มีข้อจำกัดอีกหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยบนเกาะ อาทิ การส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินในเวลากลางคืน และความลำบากในการขนส่งสินค้า ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงกว่าพื้นที่อื่น ทางด่วนเชื่อมเกาะช้างจะเป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วในการเดินทางแก่ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวรวมทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดปัญหาการรอลงเรือด้วย

นอกจากศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ต้องศึกษา และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย โดยประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การเสนอมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันต้องศึกษา และวิเคราะห์ความเหมาะสมการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการในรูปแบบร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อจัดทดสอบความสนใจของนักลงทุน ตลอดจนจัดทำกรอบสาระสำคัญเอกสารข้อเสนอชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน ร่างขอบเขตของโครงการ และร่างสัญญาการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ

ส่วนโครงการทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม เดิมโครงการนี้รับผิดชอบโดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามทะเลเส้นทางดอนสัก (สุราษฎร์ธานี)-เกาะสมุย เนื่องจากการเดินทางไปเกาะสมุย มี 2 รูปแบบ คือ ทางอากาศ และทางน้ำมีข้อจำกัดไม่สะดวกสบายในการเดินทางและกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว จนประมาณปี 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็น รมว.คมนาคม มีนโยบายให้ กทพ. ดำเนินการแทน เนื่องจากมีความพร้อมมากกว่าโดยเฉพาะเรื่องเงินลงทุน

กทพ. จึงนำมาศึกษาต่อให้เป็นทางด่วนเชื่อมเกาะสมุยงบลงทุนประมาณ 2.5-5 หมื่นล้านบาท พร้อมศึกษาอีกหนึ่งทางเลือกคือเส้นทาง ขนอม (นครศรีธรรมราช)-เกาะสมุย ซึ่งมีระยะทางที่สั้นกว่าเส้นทางเดิม โดยว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอพซิลอน จำกัด และบริษัท เทสโก้ จำกัด ระยะเวลาศึกษา 720 วัน (24 เดือน) สิ้นสุดสัญญาประมาณเดือน มี.ค. 2568

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. บอกว่า เมื่อศึกษาแล้วเสร็จ กทพ. จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการต่อไป คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 2571 และเปิดบริการปลายปี 2575

ทั้ง 2 โครงการนี้ค่อนข้างท้าทาย เพราะมีต้นทุนสูง เนื่องจากก่อสร้างทางด่วนข้ามทะเลอ่าวไทย 2 สายแรก กทพ. จะพยายามผลักดันโครงการนี้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางของประชาชนและส่งเสริมการท่องเที่ยว

สุ้มเสียงประชาชนเบื้องต้นต่อ 2 โครงการนี้ มีทั้งสนับสนุนให้ก่อสร้าง และส่วนที่มองต่างเห็นว่า โครงการทางด่วนจะทำลายสิ่งแวดล้อมและความคลาสสิกของเกาะ เพราะการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วสะดวกสบาย นำมาซึ่งปริมาณรถและผู้คนจำนวนมาก เป็นสิ่งสำคัญที่ กทพ. ต้องคำนึงถึงมาตรการลดผลกระทบ.

—————
นายสปีด