ด้วยความระลึกถึง จึงจะมาแนะนำ “นกขุนทอง” ที่คนไทยนิยมเลี้ยงกันมานานกว่า 100 ปี ด้วยความฉลาดเลียนเสียงพูดของมนุษย์ได้ ปรับตัวได้ง่าย กินง่าย ถึงขั้นมีการผลิตอาหารเม็ดขึ้นมาให้เฉพาะทีเดียว
“นกขุนทอง” มีชื่อสามัญ : Hill Myna และมีชื่อวิทยาศาสตร์ : Gracula religiosa Linnaeus, 1758. ในธรรมชาติของประเทศไทยพบเพียง 2 ชนิดย่อย คือ นกขุนทองใต้ (Gracula religiosa religiosa Linnaeus) และนกขุนทองเหนือ (Gracula religiosa intermedia Hay)
ลักษณะทั่วไปของนกขุนทองไทย มีขนาดประมาณ 30 ซม. นกตัวเต็มวัยมีสีขนดำเหลือบเป็นมัน มีลายพาดสีขาวบริเวณขนปลายปีก ซึ่งจะเห็นได้ชัดขณะกางปีกหรือบิน มีติ่งเนื้อสีเหลืองสดบริเวณด้านข้างของหัวและท้ายทอย โดยนกขุนทองใต้จะมีขนาดติ่งใหญ่เป็นสองส่วนไม่ต่อเนื่องกัน แต่นกขุนทองเหนือจะมีติ่งขนาดเล็กและต่อเนื่องกันทุกส่วน นกขุนทองจะมีปากสีส้มถึงสีแดงอมส้ม ปลายปากมักเป็นสีเหลือง แข้งและนิ้วตีนสีเหลือง
ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกขุนทองตามธรรมชาติมักอาศัยอยู่ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบชิ้น ป่าดงดิบแล้งและป่าดงดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ช่วงฤดูผสมพันธุ์มักอยู่กันเป็นคู่ตลอดเวลา แต่ช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์มักอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือฝูงเล็ก ๆ เพราะนกขุนทองเป็นนกที่ต้องการมีสังคมและเพื่อนตลอดเวลา จึงเป็นที่มาของการทำพฤติกรรมเลียนแบบซึ่งกันและกัน เช่น การเลียนท่าทางและการเลียนแบบเสียงร้อง เพื่อแสดงความเป็นพวกพ้องเดียวกัน
เมื่อนกขุนทองถูกจับมาเลี้ยงตั้งแต่ยังเด็ก และโตขึ้นมาโดยเห็นแต่หน้าเจ้าของและได้ยินเสียงสอนให้พูดอยู่ตลอดเวลา นกจึงคิดว่านี่เป็นครอบครัวหรือเพื่อนของเขา จึงพยายามเลียนเสียงเพื่อให้เป็นที่ยอมรับเช่นกัน
ทีนี้อาหารที่นกขุนทองเลี้ยงควรกิน คืออาหารเม็ดและผลไม้ตามธรรมชาติ แต่ต้องเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพิ่มความหลากหลายของสารอาหารและวิตามินต่าง ๆ ให้เพิ่มพูนขึ้น แต่ต้องเปลี่ยนอาหารและน้ำวันละสองครั้งเพราะบางครั้งผลไม้บูดเน่า
จะทำให้นกท้องเสียและบางครั้งเกิดสารพิษทำให้นกตายได้
ความจริงการที่คนไทยให้นกขุนทองกินข้าวคลุกไข่นั้น ที่มีความเชื่อมานานตามผู้เฒ่าผู้แก่บอก เท่ากับท่านกำลังบั่นทอนชีวิตของเขาทางอ้อม เป็นเพราะนกขุนทองนั้นมีตับที่ไม่เหมือนนกชนิดอื่น เป็นตับที่ไม่สามารถขับธาตุเหล็กส่วนเกินจากไข่แดงในทุก ๆ วันออกจากร่างกายได้มาก เฉกเช่นเดียวกันนกชนิดอื่น ๆ ในระยะยาวจะทำให้เกิด “ภาวะตับวาย” ได้ ดังนั้นเวลาไปซื้ออาหารเม็ดสังเกตดูด้วยว่ามีธาตุเหล็กเป็นส่วนผสมด้วยหรือไม่ ควรจะมีน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย
นกที่เลี้ยงอย่างดีและถูกต้อง สามารถอยู่ในกรงเลี้ยงได้ไม่ต่ำกว่า 20 ปีทีเดียว แต่ปัญหาที่พบเมื่อซื้อลูกนกมาเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็กมาก เป็นการสูญเสียความร้อนออกจากร่างกาย เนื่องมาจากยังไม่ถึงเวลาที่นกควรออกมาจากโพรงรัง แต่บางบ้านเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศให้ด้วย ลูกนกจึงเสียความร้อนออกไปจากร่างกายมากเกินความจำเป็น กินอาหารมาเท่าใด ก็นำไปผลิตความร้อนให้แก่ตัวเองเสียหมด ไม่ได้ใช้ในการเติบโตเลย นกพวกนี้จึงโตมาอย่างแคระแกร็นหรือเสียชีวิตไปหลังจากซื้อมาไม่นาน อีกปัญหาหนึ่งเป็นการป้อนอาหารแล้วสำลัก หรือป้อนอาหารที่นกไม่ควรกินเข้าไป ส่วนใหญ่มักตายทั้งหมด
ปัญหาของนกโตที่พบบ่อย ๆ นอกจากตับอักเสบก็จะมีกล่องเสียงหลอดลมและปอดอักเสบเนื่องมาจากตากฝน โดนลมโกรกมาก อยู่ในที่เย็นจัด กินอาหารที่ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน และชอบอาบน้ำหรือเล่นน้ำ อันที่จริงในธรรมชาติขุนทองแทบไม่เคยได้เล่นน้ำเลย แต่เหตุเพราะนกเขาเบื่อ วัน ๆ อยู่แต่ในกรงแคบ ๆ เกาะอยู่เฉย ๆ เห็นมีกิจกรรมใดน่าสนุกก็ทำเข้าไปทำจนติดเป็นนิสัย ซึ่งก่อให้เกิดการป่วย บางตัวอาบน้ำบ่อย ๆ เข้าจนมีปัญหาเชื้อราที่ผิวหนัง (คล้ายรังแคในคน) นกเครียดจนจิกแทะตนเอง ปัญหาส่วนมากเกิดได้ง่ายและแก้ไขได้ยากทั้งสิ้น และเจ้าของมักมองข้ามไปไม่ใส่ใจ ที่จะพามาพบสัตวแพทย์อาจเนื่องมาจากนกราคาไม่แพง
อันที่จริง นกขุนทองไม่สามารถเลียนแบบเสียงคนได้ทุกตัว แม้จะเลี้ยงเขามาตั้งแต่ยังเด็ก และนกขุนทองโตเต็มที่ที่ถูกจับจากป่ามาขาย เมื่อเป็นเช่นนั้นเจ้าของบางคนนำไปปล่อยป่าหรือปล่อยออกจากบ้านไป โดยไม่ทราบว่านกที่ถูกมนุษย์เลี้ยงมาตั้งแต่เด็กนั้นหาอาหารกินเองไม่เป็น ไม่รู้สิ่งใดเป็นศัตรูไม่รู้ว่าจะไปนอนที่ไหน มันมืดแปดด้าน เพราะฉะนั้นทุกท่านที่มีนกขุนทองไว้ครอบครองแล้วกรุณาเลี้ยงเขาให้ดีจวบจนเขาจะแก่ตายไปเองในกรง เลิกความคิดว่าจะนำไปปล่อย เพราะเท่ากับส่งนกไปตกนรกทั้งเป็น.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน