ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ครม. ขอกู้เงิน 3,000 ล้านบาท ครอบคลุมระยะเวลาการกู้ 5 ปี เพื่อนำเงินก้อนนี้มาเสริมสภาพคล่องให้กับองค์การเภสัชกรรม

เนื่องจากองค์การเภสัชกรรมมีลูกหนี้ที่ค้างชำระ และยังเรียกเก็บเงินไม่ได้กว่า 7,200 ล้านบาท ที่เกิดจากการซื้อยาวัคซีนเวชภัณฑ์ โดยมีลูกหนี้รายใหญ่ คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 4,133 ล้านบาท ประกันสังคม 1,013 ล้านบาท โรงพยาบาลสังกัด กทม.-โรงพยาบาลสังกัดกลาโหมลูกหนี้อื่น ๆ รวมกับอีกเกือบ 2,000 ล้านบาท

ในวันเดียวกันนี้ ได้มีเครือข่ายสถานพยาบาล 5 สถาบัน ประมาณ 100 คน แต่งชุดดำ ถือป้ายเรียกร้องขอความเป็นธรรมจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อช่วยเหลือกรณีปัญหาบริหารการเงินการคลังของ สปสช. ที่ทำให้หน่วยบริการขาดสภาพคล่อง (ขาดทุน)

พยัคฆ์น้อย” ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของปัญหาดังกล่าวเท่าไหร่! แต่มีลูกหลานเป็น “หมอ” หนุ่ม ๆ อยู่ต่างจังหวัด อธิบายให้ฟังว่า สปสช.เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาดูแลเรื่องบัตรทอง (30 บาทรักษาทุกโรค) เพื่อให้ 30 บาทเดินไปได้

สปสช.มีหน้าที่บริหารเงินสิทธิรักษาต่าง ๆ และส่งเสริม สุขภาพ เพื่อให้ระบบนี้คงอยู่ไปทุกรัฐบาล โดย สปสช.ได้งบเพิ่มขึ้นทุกปี แต่กลับขาดทุนทุกปี ชี้ให้เห็นอะไรได้บ้าง? ผู้บริหารไม่มีความสามารถหรือไม่? บริหารเงินไม่เป็น หาเงินมาใส่ในกองทุนไม่ได้?

มีทุจริตเกิดขึ้นหรือเปล่า? เพราะตามหลักควรลงเงิน primary prevention ให้เป็นที่ประจักษ์ แต่อันนี้ไม่มีเลย คนยังกินเหล้าเมาขับ ไม่มีสวมหมวกกันน็อก ตำรวจไม่จับ งบหายไปไหน เงินจ่าย รพ.ไม่มี ระบบนี้แบกรับภาระเพิ่มขึ้นทุกปี

จากเดิม สปสช.แบกภาระได้ จนกระทั่งไม่ไหวรึเปล่า? เพราะผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี คนป่วยมากขึ้น คนมา รพ.ง่าย เจอหมอง่าย สรุปคนป่วยมากขึ้น ภาระเพิ่มขึ้น ประกอบกับยาแพงขึ้น ยาใหม่ ๆ ก็แพง ภาระเยอะขึ้น

หมอหนุ่มที่ว่าจึงมีข้อเสนอดังนี้ 1.เปลี่ยนผู้บริหาร สปสช. ใหม่ยกชุด หาคนทำงานมีประสิทธิภาพบริหารเงินเป็น-หาเงินได้ เข้ามาทำแทน 2.ระบบเบิกจ่ายเปลี่ยนให้หมด ระบบเบิกผู้ป่วยใน (IPD) ต้องเบิกง่ายกว่านี้ ไม่ใช่เอะอะก็ปัดทิ้ง หรือเปิดอบรมการสรุปโรค ไม่ใช่ให้หมองมเอาเอง ส่วนผู้ป่วยนอก (OPD) ต้องเบิกตามค่ายาจริง หรือให้ รพ.ได้มากกว่านี้

3.เสนอระบบ co-payment กลับมาอีกครั้ง ระบบ 30 บาท คือคนไข้จ่ายช่วย 30 บาท ไม่ใช่ไม่จ่ายอะไรเลย โดยเฉพาะโรคที่ทำตัวเอง เช่น กินเหล้าอ้วกเป็นเลือด สูบบุหรี่ เสพยาเสพติด อาจต้องจ่ายมากกว่า 30 บาทด้วยซ้ำ

4.ให้รพ.รับบริจาคได้อย่างเปิดเผย เพราะโรงเรียนแพทย์ยังอยู่ได้เพราะเงินบริจาค เงินบริจาคเป็นสิ่งสำคัญ

5.สนับสนุนการป้องกันโรค ให้ความรู้ด้านการป้องกัน (primary prevention) มากกว่านี้เพื่อลดจำนวนคนไข้มา รพ.

6.คนไข้มาฉุกเฉินนอกเวลาที่ไม่ฉุกเฉินจริง ๆ ต้องเสียเงิน! ทุกวันนี้ รพ.ใหญ่ ๆ หรือ รพ.ทั่วไปเก็บเงินนอกเวลา เคสละ 100 บาท แต่ รพ.เล็ก ๆ บอกไม่เก็บ ไม่รู้ทำไม? ทำให้คนไข้ไม่ฉุกเฉินมานอกเวลา จึงเสียค่ายาไป โดยเบิกไม่ได้ด้วยซ้ำ

7.ให้รพ.มีสิทธิเหมือนธนาคารในการทวงหนี้ เพราะมีเคสค้างจ่าย เช่น รถไม่มี พ... แล้วนอน รพ. แต่ รพ.เบิกไม่ได้สักบาท ให้ รพ.ทวงหนี้ได้สิ! ซึ่งส่วนใหญ่เมาแล้วขับ ซึ่งเขาก็ทำอีก เพราะฟรี!

8.กฎหมายต้องรุนแรง และจริงจังกว่านี้กับคนไข้ที่ไม่ทำตามกฎหมาย เช่น รถไม่ทำ พ.ร.บ.-เสพยา-เมาแล้วขับ

ปัจจุบัน รพ.-คลินิก-ศูนย์สุขภาพที่อยู่ภายใต้ สปสช. ต้องดีลกับบริษัทยา-บริษัทอุปกรณ์เอง และสำรองจ่ายไปก่อน แล้วจึงมาเบิกกับ สปสช. แต่ตอนนี้เป็นปัญหาเพราะ สปสช.ค้างจ่าย! รพ.จึงต้องรับแบกภาระนี้ไว้ จนตอนนี้ไม่ไหวแล้ว ถึงได้ออกมาเรียกร้อง ถ้าหากปล่อยแบบนี้ต่อไป ไม่ใช่แค่ สปสช.ล้มละลาย แต่ รพ.ทั่วไทยก็จะล้มละลายครับ…นพ.ชลน่าน!!.

……………………………..
พยัคฆ์น้อย.