น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมต.วัฒนธรรม แถลงผลคัดเลือก 12 ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2566 ใน 4 สาขา คือ สาขาทัศนศิลป์ 4 คนได้แก่ 1.ศ.เกียรติคุณ กัญญา เจริญศุภกุล (สื่อผสม) 2.นางวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล (สถาปัตยกรรมภายใน) 3.ร้อยตรี ทวี บูรณเขตต์ (ประณีตศิลป์-ช่างปั้นหล่อ) 4. นายสุดสาคร ชายเสม (ประณีตศิลป์-เครื่องประกอบฉาก) สาขาวรรณศิลป์ 2คน ได้แก่ 1.นายประสาทพร ภูสุศิลป์ธร 2.นายวศิน อินทสระ สาขาศิลปะการแสดง 6 คน 1.นายสมบัติ แก้วสุจริต (นาฏศิลป์ไทย-โขนละคร) 2.นายไชยยะ ทางมีศรี (ดนตรีไทย) 3.นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา หรือ น้าโย่ง เชิญยิ้ม (การแสดงพื้นบ้าน-เพลงฉ่อย) 4.จ่าโทหญิง ปรียนันท์ สุนทรจามร (เพลงไทยสากล -ลูกทุ่ง) 5.นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา หรือครูโจ้ เดอะสตาร์ (นาฏศิลป์สากล) 6.รศ.บรรจง โกศัลย์วัฒน์ (ภาพยนตร์)

พวกท่านสมควรได้รับการยกย่องแล้ว แต่บางคน ตำแหน่งนี้ช่างมาช้าเหลือเกิน ครั้งหนึ่ง ชาลี อินทรวิจิตร บรมครู และนักแต่งเพลงคู่บุญ ชรินทร์ นันทนาคร เคยพูดถึง ชรินทร์ ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและศิษย์ ว่าหาก ชรินทร์ ไม่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ เนื่องเพราะตอนนั้นนักร้องคนอื่นล้วนเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว แต่ ชรินทร์ เสมือนจะถูกลืม เลยกลายเป็นคำพาดหัวในคอลัมน์ สกู๊ปข่าวหน้า 1 นสพ.เดลินิวส์ จากนั้นไม่นาน ชรินทร์ นันทนาคร ก็ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สมใจแฟนเพลงทั่วประเทศและครูชาลี บัดนี้ทั้ง 2 ท่านล้วนอยู่บนสรวงสวรรค์กันแล้ว

กลับมาที่ศิลปินแห่งชาติปี 2566 ครั้งนี้เราดีใจจนน้ำตารื้น เพราะในสาขาวรรณศิลป์ รู้จักทั้ง 2 คน หนึ่ง คือ คมทวน คันธนู หรือ พี่หน่อย ประสาทพร ภูสุศิลป์ธร เคยทำงานด้วยกันตอนพี่หน่อยเป็นอดีตซับเอดิเตอร์มือทองของ นสพ.มติชน พี่หน่อยเป็นกวี ปากกล้า คมบาดใจ ท้าอธรรม มาตลอดชีวิต สมแล้วที่เป็นกวีแห่งแผ่นดิน

สำหรับอาจารย์ วศิน อินทสระ นั้น ช่วงหนึ่งของชีวิตเรามีบุญได้เป็นลูกศิษย์ของท่าน นอกจากท่านจะเป็นครูสอนพุทธศาสนาหลายสถาบันการศึกษา เช่น รร.นายร้อย, ม.รามคำแหง, ม.เกษตรศาสตร์ หัวหน้าภาควิชาปรัชญาคณะศาสนาและปรัชญา มหามกุฏราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์ 1 ใน 2 แห่งของไทย) กับ รร.ราชินี แล้ว

แทบไม่น่าเชื่อ คือ ไม่รู้ท่านเอาเวลาที่ไหนมาผลิตผลงานมากมายถึงเพียงนี้ ตั้งแต่ ปี 2507 ท่านเขียนทั้งสารคดี บทความ เรื่องสั้น อัตชีวประวัติ และที่หายากยิ่งคือ การเขียนธรรมนิยายอิงชีวประวัติในพุทธกาล หลายเล่ม รวมทุกผลงานกว่า 200 ชิ้น นิยายธรรม ที่โด่งดังมาก คือ อานนท์ พุทธอนุชา (พิมพ์แล้ว 7 ครั้ง) เรื่องย่อคือ พระอานนท์ หนึ่งในศิษย์เอกและผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้านั้น เป็นพระรูปงาม มีผู้หญิงมาหลงรักมากมาย สมัยนี้คือ คลั่งรัก ไม่ว่าพระอานนท์จะไปไหน หญิงสาวก็จะตามไปทุกที่ จนวันหนึ่งพระอานนท์ ส่งจิตให้นางเห็นเป็นนิมิตว่า ที่แท้แล้วก็แค่นครแห่งกระดูก ประกอบร่างเป็นมนุษย์ จนนางบรรลุธรรม อนัตตา การไม่มีตัวตนที่แท้จริง ได้บรรลุพระอรหันต์

เรื่องนี้ทั้งอ่านสนุก เดินเรื่องชวนติดตาม อ่านแล้ววางไม่ลง มากด้วยข้อคิดในชีวิต เอ็นไซโคปีเดีย สารานุกรมโลก ถึงขนาดบันทึกว่า เป็นหนังสือทางศาสนาที่เป็นวรรณกรรมของโลกในศตวรรษที่ 20 สะท้อนว่า ฝีมือในงานวรรณกรรมของท่านระดับไหน ยังมีธรรมนิยาย ผู้สละโลก ที่มีผู้ทำเป็นวิดีโอ นับสิบ ๆ ตอนให้ฟังอีกด้วย

งานวิชาการ ก็ไม่น้อย เช่น พระพุทธศาสนาเถรวาท (สองเล่ม) พระพุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน ความทุกข์และการดับทุกข์ สาระสำคัญแห่งวิสุทธิมรรค อริยสัจ 4 พุทธวิธีในการสอน (ตีพิมพ์ในปี 2524) เป็นต้น

อาจารย์วศิน ท่านจบมหาวิทยาสงฆ์ “มหามกุฏ” และจบปริญญาโทที่อินเดีย ท่านใฝ่เรียน ใฝ่รู้ มุ่งผลิตผลงานเลอค่าเป็นพุทธบูชามาเกือบ 6 ทศวรรษแล้ว ที่จริง จะได้เป็นหรือไม่ได้ศิลปินแห่งชาติ ก็ไม่มีผลต่อเจตจำนงที่ท่านมุ่งอุทิศชีวิตเพื่อจรรโลงพุทธศาสนาหรอก แต่เมื่อรัฐเห็นคุณค่า แม้รางวัลจะมาช้า เมื่อท่านอายุถึง 90 แล้ว (รางวัลมีตั้งแต่ปี 2527) อย่างน้อย ก็ถือเป็นการประกาศนามของท่านให้ปรากฏเป็นทางการอีกครั้ง

ด้วยความคารวะรำลึกถึงอาจารย์ วศิน อินทสระ ผู้เป็นครูของแผ่นดินและในโอกาสได้เป็นศิลปินแห่งชาติ.

………………………………..
ดาวประกายพรึก

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…