ความคืบหน้าของการนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งมีการลงคะแนน เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ขณะนี้ พล.ท.ซูเบียนโต ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนมากกว่า 50% แล้ว นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งผู้นำอินโดนีเซียจะไม่จำเป็นต้องมีรอบตัดสิน หรือรอบชิงดำ

การขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของ พล.ท.ซูเบียนโต เกิดขึ้นหลังจากการที่เขาให้คำมั่นว่าจะสานต่อนโยบายแทบทุกด้านของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำคนปัจจุบัน ซึ่งจะหมดวาระในเดือน ต.ค. นี้ รวมถึงการขับเคลื่อนการพัฒนา และการย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตา ไปยังกรุงนูซันตารา บนเกาะบอร์เนียว

“เขาจะสานต่อในสิ่งที่วิโดโดทำไว้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองหลวงแห่งใหม่ เพราะโครงการดังกล่าวมีผลประโยชน์ทางการเมือง และทางเศรษฐกิจ ดังนั้น พล.ท.ซูเบียนโต จะดำเนินการต่อไปอย่างแน่นอน” นายอัมบัง ปรียองโก นักวิเคราะห์การเมืองจากมหาวิทยาลัยมัลติมีเดีย นูซันตารา กล่าว

The Economist

แม้อินโดนีเซียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคง อยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี ภายใต้การบริหารของวิโดโด แต่เขาไม่สามารถลงสมัครได้อีก หลังดำรงตำแหน่งครบสองสมัย หรือ 10 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาสูงสุดแล้วตามรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย ด้วยเหตุนี้ คำมั่นสัญญาของ พล.ท.ซูเบียนโต และการลงสมัครของนายกีบราน ราคาบูมิง รากา บุตรชายคนโตของวิโดโด ในฐานะรองผู้นำ จึงมีความน่าดึงดูดใจ

พล.ท.ซูเบียนโต ให้คำมั่นว่า เขาจะเปลี่ยนอินโดนีเซียให้เป็น “ประเทศเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าและพัฒนาแล้ว” ซึ่งการทำเช่นนั้น เขาจึงสนับสนุนความเป็นชาตินิยมด้านทรัพยากรของวิโดโด โดยเฉพาะในภาคส่วนนิกเกิล ที่รัฐบาลจาร์กาตากำหนดข้อจำกัดการส่งออก เพื่อพยายามเป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกลับส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ พล.ท.ซูเบียนโต พูดถึงเพียงเล็กน้อยในการรณรงค์หาเสียง เนื่องจากครอบครัวของเขา ยังคงมีความสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมถ่านหิน อีกทั้งการแปรรูปนิกเกิลปริมาณมหาศาล จำเป็นต้องใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินด้วย

“ในชัยชนะครั้งนี้ เราเห็นการถดถอยของประชาธิปไตย เพราะ พล.ท.ซูเบียนโต เป็นคนที่มีแนวคิดชาตินิยมสุดขั้ว มันจึงมีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลของเขาจะเป็นแบบรวมศูนย์มากกว่า” ปรียองโก กล่าวเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน นักวิจารณ์บางคนแสดงความกังวลต่อความพยายาม “ปิดปาก” ฝ่ายค้านและสื่อ แม้ พล.ท.ซูเบียนโต กล่าวว่า เขาสนับสนุนทั้งประชาธิปไตย และเสรีภาพของสื่อ แต่บรรดานักวิจารณ์กลัวว่า เขาอาจสานต่อแนวทางปฏิบัติของวิโดโด ในการใช้กฎหมายหมิ่นประมาท เพื่อปิดปากคู่ปรับทางการเมือง ซึ่งการกระทำดังกล่าว อาจทำให้เส้นทางบนถนนสายประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย ซึ่งยังคงเริ่มต้น ต้องสั่นคลอน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES