นักขี่ม้าที่แต่งตัวอย่างประณีต กระโดดข้ามรั้วอย่างคล่องแคล่วราวกับการกระโดดของม้า โดยพวกเขาต่างพยายามทำเวลาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะขี่แท่งไม้ที่มีหัวม้าซึ่งทำมาจากผ้า และได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม อีกทั้งการวิ่งเหยาะ ๆ ให้ดูเหมือนกับม้า ก็ยิ่งทำให้การแข่งขันดูสง่างามมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ นักขี่ม้าประมาณ 260 คนจาก 22 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ที่มีอายุระหว่าง 10-20 ปี เข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์ประจำปีครั้งที่ 11 ของฟินแลนด์ ซึ่งจัดขึ้นในเมืองเซย์นาโยกิ ทางตะวันตกของประเทศ
แม้การขี่ตุ๊กตาม้า มีผู้คนจำนวนมากเข้าถึงในระดับนานาชาติ ตั้งแต่แถบอาร์กติก ไปจนถึงอาร์เจนตินา และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม แต่มันกลับเป็นกีฬาที่แทบไม่เคยถูกพูดถึง และไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “กีฬา” อย่างเป็นทางการ ในประเทศบ้านเกิด
“เราเผชิญกับการกลั่นแกล้งและการตัดสินมากมาย พวกเราต่างรู้ว่า ทุกคนในวงการขี่ตุ๊กตาม้าต้องผ่านอะไรมาบ้าง ซึ่งฉันคิดว่า นั่นคือสิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเราร่วมมือกัน และเป็นหนึ่งเดียวกัน” น.ส.นารา อาร์ลิน นักขี่ม้า วัย 24 ปี กล่าว
อนึ่ง การขี่ตุ๊กตาม้า ซึ่งถูกคิดค้นเป็นครั้งแรกในฟินแลนด์ เมื่อกว่าสิบปีที่ผ่านมา ได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยน.ส.จูเลีย มิกโคเนน ประธานสมาคมการขี่ตุ๊กตาม้าแห่งฟินแลนด์ กล่าวว่า กีฬาประเภทนี้เติบโตขึ้นทุกปี และการแข่งขันชิงแชมป์ในปีนี้ นับเป็นการแข่งขันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่สมาคมเคยจัดมา
นอกเหนือจากความแปลกประหลาด การขี่ตุ๊กตาม้ายังต้องใช้พละกำลังและทักษะที่ยอดเยี่ยม ในการกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง ขณะถือแท่งไม้ที่มีหัวตุ๊กตาม้าไปด้วย ซึ่งผู้เข้าแข่งขันระดับสูงบางคน สามารถเทียบกับนักกีฬากระโดดข้ามรั้ว หรือนักยิมนาสติกมืออาชีพ ได้อย่างสูสีเลยทีเดียว
“ถ้าคุณกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางได้ การเคลื่อนไหวบริเวณสะโพกของคุณต้องสุดยอดมาก เพราะรั้วบางอันมีความสูงถึง 110 เซนติเมตร” มิคโคเนน กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้าแข่งขันทุกคนต่างใฝ่ฝันที่จะได้เป็นแชมป์โลกในสักวันหนึ่ง และเธอคาดว่า มีนักขี่ตุ๊กตาม้าทั่วโลก ประมาณ 10,000 คน
ด้านน.ส.โจโจ ฮันนิเนน นักขี่ม้า วัย 19 ปี ยอมรับว่ามีอาการหายใจไม่ทันเป็นบางครั้ง แต่โดยรวมเธอก็พอใจกับผลงานของตัวเอง พร้อมกับเสริมว่า หากต้องการประสบความสำเร็จในกีฬาประเภทนี้ นักขี่ตุ๊กตาม้าต้องปลดปล่อย “ความเป็นเซนทอร์” ในตัวออกมา เนื่องจากในการแข่งขัน พวกเขาต้องเป็นทั้ง “ม้า” และ “มนุษย์” ในเวลาเดียวกัน
ขณะที่อาร์ลิน กล่าวว่า การขี่ตุ๊กตาม้าคือ “ศิลปะ” เช่นเดียวกับนักขี่ม้าคนอื่น ๆ ที่ยกย่องกีฬาชนิดนี้ว่าเป็น “งานอดิเรกที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา” เพราะมันช่วยให้พวกเขาทำหลายสิ่งหลายอย่างด้วยมือ สมอง และทั้งร่างกาย ซึ่งผู้ที่ชื่นชอบการขี่ตุ๊กตาม้า ต่างทุ่มเทให้กับกีฬาประเภทนี้อย่างมาก และคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้พวกเขาเคยเจอทัศนคติดูถูกเหยียดหยามมาบ้างก็ตาม.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP