วันนี้ “คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงต้องมาสนทนากับ “ดำรงค์ พิเดช”อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ และมือปราบรุกป่าที่จะมาอธิบายถึงต้นตอปัญหาและทางออกในเรื่องนี้

โดย “ดำรงค์ พิเดช” เปิดประเด็นถึงกรณีล่าสุดที่มีการออกส.ป.ก.ทับซ้อนในแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปัญหาเกิดจากอะไรว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดจาก ส.ป.ก.ไปยกเลิกระเบียบการใช้ประโยชน์เดิม ที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างกรมป่าไม้ กับ ส.ป.ก. ระเบียบปี 2533 ที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยนั้น ได้เรียกหน่วยงานทั้ง 2 คือ กรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. มาหารือแนวทางการปฏิรูปที่ดินทั้งประเทศ  ในการเอาป่าทั้ง 30 ป่า จากกรมป่าไม้ไปจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร ซึ่งสมัยนั้นนายไพโรจน์ สุวรรณกร เป็นอธิบดีกรมป่าไม้  ได้มีการประชุมหารือข้อตกลงมีทั้งหมด 5 ข้อ โดยมีจุดสำคัญ คือ ข้อ 4 และข้อ 5  

โดยข้อที่ 4 ระบุว่า พื้นที่ที่จะจำแนกเป็นที่ชุมชน หรือที่ดินที่ควรสงวนไว้เป็นที่ชุมชน และพื้นที่ที่จะจำแนกเป็นพื้นที่เหมาะแก่การเกษตรกรรม จะต้องอยู่ในเงื่อนไขดังนี้ คือ 1. ไม่เป็นเขตป่าไม้ต้นน้ำลำธาร 2. ไม่เป็นพื้นที่ที่ได้อนุรักษ์ตามกฎหมาย เช่น อุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า วนอุทยานฯ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า สวนรุกขชาติ เป็นต้น 3. เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 35 % 4.ไม่เป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้มีเงื่อนไขผูกพันดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่สำคัญ เช่น พื้นที่ปลูกป่า พื้นที่ สิทธิทำกินในพื้นที่ป่า(สทก.) หมู่บ้านป่าไม้ พื้นที่อนุญาตให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนเข้าใช้ประโยชน์ พื้นที่ที่กรมป่าไม้มีแผนงานและโครงการที่จะดำเนินการ เป็นต้น

ส่วนข้อ 5 ระบุต้องไปตั้งอนุกรรมการระดับจังหวัดโดยผู้ว่าฯ เป็นประธาน โดยมีผู้แทนกรมป่าไม้เป็นอนุกรรมการร่วมด้วย เมื่อ ส.ป.ก.ไปสำรวจขอบเขตที่กรมป่าไม้ยกให้ไปแล้ว คือพื้นที่ป่าทั้ง 30 ป่านั้น ส.ป.ก.จะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมระดับจังหวัด ว่า ได้เข้าไปรุกล้ำในพื้นที่อนุรักษ์ข้างต้นหรือไม่  ถ้าสำรวจเข้าไปต้องตัดออกให้อนุกรรมการระดับจังหวัดกันพื้นที่เหล่านี้ออก จากนั้นจึงจะประกาศเป็นพื้นที่พระราชกฤษฎีกาปฏิรูปที่ดินได้ แต่ช่วงนั้นรัฐมนตรีไม่รู้ว่ามาจากพรรคอะไร เร่งรีบ เอาก่อนให้ประกาศหมดทั้งประเทศ คลุมทั้งจังหวัด อำเภอ รวมทั้งเขาใหญ่ที่มีปัญหาในป่า สีคิ้ว สูงเนิน ปากช่อง ก็เพราะประกาศทับอำเภอ คุณไปกันออก แต่โรงเรียน สถานีอนามัย แต่ป่าคุณไม่กันออก

ส.ป.ก.ไปอาศัยกรมการพัฒนาที่ดิน ซึ่งอยู่ในแต่ห้องแอร์ พื้นที่นี้ต่ำกว่า 35 % ก็กันออกเลย 3.5 หมื่นไร่ แต่ไม่รู้และไม่คิดว่าเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งมีร่องรอยทำกินปี 2490 กว่าๆ  สมัยนั้นมีการทำไม้ พวกทำไม้ไปอยู่ก็ทำไร่ปลูกข้าวโพดกัน พอหมดการทำไม้ก็ออกไป และกรมป่าไม้ก็เข้าไปปลูกป่าปี 2511 จึงเป็นสวนป่าขึ้นมา ตอนนั้นมีกรมเดียวคือ กรมป่าไม้ จากนั้นปี 2551 ก็มามอบให้กรมอุทยานฯ ให้ผนวกเป็นพื้นที่อุทยานฯ ในสมัยนายประจวบ ไชยสาห์น รมว.เกษตรฯ ก็ได้มีการจัดทำแนวเขต 230 กม. ใช้งบประมาณ 160 กว่าล้านบาท เป็นแนวขอบเขตอุทยานฯ  ส.ป.ก.ก็เข้าร่วมประชุมมาตลอด แต่ก็ไม่เห็นพูดหรือคัดค้านอะไร ขณะที่อุทยานฯ เขาใหญ่ประกาศจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2505  ตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ 2504 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 ก็ยึดถือตามแนวพระราชกฤษฎีกามาตลอด

ตราบใดที่ยังไม่มีการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาขอบเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ ไม่ใช่เป็นพื้นที่ปฏิรูป ใครเข้าไปก็โดนจับ หากรัฐมนตรีเข้าไปทำอะไรเขาก็จับ เพราะเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ แล้วไปฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ คุณชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานฯ เรื่องหมุด ส.ป.ก. จะฟ้องข้อหาอะไร เพราะหัวหน้าอุทยานฯ มีสิทธิ์ที่จะรื้อถอนทำลายได้ไม่ต้องรอศาลอะไรทั้งสิ้น เพราะทำตามอำนาจหน้าที่และมีกฎหมายคุ้มครองให้

นายกรัฐมนตรีระบุว่ากรณีเขาใหญ่ให้ยึดแผนที่แนวเขตของกรมแผนที่ทหาร

แผนที่แนวเขตของกรมแผนที่ทหารต้องเข้าสู่คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map)  ชุดใหญ่ นี่เป็นแนวคิดทหาร ซึ่งทหารเขาพูดไม่หมด ทหารพูดถูกว่าเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่คำว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาแล้วจะมาคิดว่าเป็นเจ้าของนั้นไม่ใช่  คนละกระทรวง จึงเป็นพระราชกฤษฎีกาทับซ้อน ตราบใดที่คุณยังไม่เพิกถอนพื้นที่ คุณไม่ไปดูระเบียบ ส.ป.ก.ว่า มีระเบียบการใช้อย่างไร คุณมีพระราชกฤษฎีกาไปทับพื้นที่ ที่เขาห้าม ตรงนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมาย เป็นอุทยานฯ เพราะฉะนั้น ส.ป.ก.ต้องคืนพื้นที่นี้ให้กับกรมอุทยานฯ ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ให้ใช้ประโยชน์ได้ ต้องพูดอย่างนี้

@สุดท้ายหากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งนายกฯมอบหมายให้หาข้อยุติเรื่องนี้ ชี้ว่าสามารถออก ส.ป.ก.ในพื้นที่ที่เป็นปัญหาได้ จะเกิดผลอย่างไร

คนก็ต้องออกมาต่อต้านกันทั้งประเทศแน่นอน ถ้าไปตัดสินว่าตรงนี้เป็นที่ ส.ป.ก. ให้ออกเอกสารสิทธิ์ได้ วันนี้ ส.ป.ก.ใหญ่สุด นึกจะปักตรงไหนปักได้หมด อย่าลืมว่าพระราชกฤษฎีกายังคาอยู่ในป่า ถ้าคุณไม่ยอมคืน แต่วันนี้เห็นว่าเรื่องนี้เขาตกลงกันได้แล้ว จะกันออกทำเป็นบัฟเฟอร์โซน ซึ่งถือเป็นเรื่องดี ก็ขอชมเชยร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ด้วย มีจิตใจที่ดี ที่ว่าจะคืนพื้นที่เป็นป่า และต้องให้ความเป็นธรรม ว่า ระหว่างที่มีการยกเลิกระเบียบ ส.ป.ก. ดังกล่าว ร.อ.ธรรมนัส ยังไม่ได้เข้ามา เป็นช่องว่างรอยต่อของกระทรวงเกษตรที่เหลือ รัฐมนตรีว่าการ และรมช. อีกคนในช่วงปี 2564 ซึ่งไม่รู้ว่าตอนนั้นใครเป็นเลขา ส.ป.ก.และไปยกเลิกระเบียบนี้ได้อย่างไร วันนี้ถามว่า คุณยกเลิกพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ คนเขาจะยอมหรือไม่ ผมไม่เชื่อว่า รมว.ทรัพยากรฯ จะยอมให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฯ เขาใหญ่ จัดเป็นที่ ส.ป.ก. เผื่อเอาไปให้คนไม่กี่คน หรือจะเก็บพื้นที่ป่าเอาไว้ให้คนที่ 60 ล้านคนที่ได้ประโยชน์

 @ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะกระทบการความเป็นมรดกโลกของเขาใหญ่หรือไม่

ลองยกให้ส.ป.ก.ดูสิ เขาก็จะว่าประเทศนี้ไม่มีขื่อไม่มีแป แปลเป็นภาษาอังกฤษให้คนทั่วโลกเขาดูว่า ระเบียบทั้ง 5 ข้อนั้น ที่เป็นข้อตกลงก็ปฏิบัติกันมา 30 กว่าปีก็ไม่เห็นมีอะไร แต่มามีปัญหาในวันนี้ แล้ววันนี้คุณดูเรื่องโฉนดชุมชน ดีที่วันนี้นายกฯ ยังไม่บ้าจี้ตาม ถ้าออกโฉนดชุมชนให้ รีสอร์ตจะขึ้นเต็มไปหมดเหมือนม่อนแจ่ม จ.เชียงใหม่ หรือภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ แต่เป็นคนข้างล่างมาลงทุนให้ สุดท้ายแล้วป่าต้นน้ำลำธารประเทศไทยอยู่กันอย่างไร.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่