โดยเมื่อแยกพลาสมาหรือน้ำเหลืองออกจากเลือดแล้ว ส่วนประกอบอื่นในเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดจะถูกส่งคืนกลับสู่ร่างกาย พร้อมกับชดเชยส่วนของพลาสมา ด้วยสารอัลบูมินหรือพลาสมาแช่แข็ง (fresh frozen plasma)

ทำไมต้องทำ plasma exchange

•  เพื่อนำภูมิต้านทาน (Antibody) และ/หรืออิมมูโนโกลบูลินที่ผิดปกติ อันก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว ในกลุ่มโรคที่มีพยาธิกำเนิดจากภูมิต้านทานทำลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อตนเอง หรือมีการสร้างอิมมูโนโกลบูลินชนิดผิดปกติ

•  เพื่อเติมองค์ประกอบสำคัญในพลาสมา เช่น สารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ในโรคที่ร่างกายขาดสารแข็งตัวของเลือด จนทำให้เกิดภาวะเลือดออกรุนแรง

Plasma exchange ในโรคทางโลหิตวิทยา

การรักษาโดยการแยกส่วนพลาสมาออกจากเลือด มีที่ใช้ในหลายโรคทางโลหิตวิทยาซึ่งจะขอกล่าวถึงโรคที่จำเป็นต้องให้การรักษาแบบเร่งด่วน

Thrombotic thrombocytopenic purpura หรือ TTP มีพยาธิกำเนิดจากการมีภูมิต้านทาน (antibody) ต่อสารที่ช่วยให้เกิดลิ่มเลือดในปริมาณปกติ เมื่อเป็นโรคนี้จึงเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดขนาดเล็กปริมาณมาก อวัยวะที่มักพบการอุดตันได้แก่ ไตและสมอง เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกและเกล็ดเลือดต่ำ อาการเด่นของโรคคือ ระดับความรู้สึกตัวลดลง ไตวายฉับพลัน โลหิตจางรุนแรงและมีเลือดออกง่าย การรักษาด้วยวิธี plasma exchange ทำให้ภูมิต้านทาน (antibody) ที่ผิดปกติดังกล่าวถูกนำออกจากกระแสเลือดในปริมาณมากและรวดเร็ว ในขณะเดียวกันร่างกายจะได้รับสารที่ช่วยให้เกิดลิ่มเลือดตามปกติจากพลาสมาแช่แข็ง (fresh frozen plasma) ทำให้กระบวนการเกิดลิ่มเลือดเป็นไปอย่างสมดุล ลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ

Hyperviscosity syndrome หรือภาวะเลือดหนืดข้น มีพยาธิกำเนิดจากอิมมูโนโกลบูลิน ขนาดใหญ่ในพลาสมามีอัตราส่วนสูงเกินปกติ ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดช้าลง เป็นผลแทรกซ้อนจากโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma) มะเร็งเม็ดเลือดมัยอิโลมา (myeloma) อาการเด่นของโรคได้แก่ ปวดเวียนศีรษะ ตามัว หูอื้อ มีเสียงดังในหู ร่วมกับโลหิตจางจากการเกาะกลุ่มของเม็ดเลือด บางรายมีอาการรุนแรงขั้นหมดสติ ชักเกร็ง การรักษาด้วยวิธี plasma exchange ทำให้อิมมูโนโกลบูลินขนาดใหญ่นี้ถูกนำออกจากกระแสเลือด ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดกลับมาเป็นปกติ

ขั้นตอนและระยะเวลาในการรักษาเป็นอย่างไร

•  แพทย์ทำการใส่สายสวนเข้าในหลอดเลือดดำบริเวณต้นแขน หรือหลอดเลือดดำที่มีขนาดใหญ่เพื่อต่อกับเครื่อง plasma exchange ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องฟอกไต

•เลือดที่ผ่านออกทางสายสวนเข้าสู่ตัวกรองหรือส่วนปั่นแยกภายในเครื่อง เพื่อแยกส่วนที่เป็นพลาสมาที่มีภูมิต้านทานผิดปกติออกจากเลือด จากนั้นคืนส่วนที่เป็นเซลล์เม็ดเลือดพร้อมกับเติมสารทดแทนด้วยอัลบูมิน หรือพลาสมาแช่แข็ง (fresh frozen plasma) ที่มีความเข้มข้นเทียบเท่ากับพลาสมากลับเข้าสู่ร่างกาย

•ใช้เวลาครั้งละ 2 – 3 ชั่วโมงต่อการรักษาหนึ่งครั้ง ความต่อเนื่องของการทำขึ้นอยู่กับอาการและชนิดของโรค

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้

แคลเซียมในกระแสเลือดต่ำ มีสาเหตุจากสารกันเลือดแข็งที่หล่อไว้ภายในเครื่อง plasma exchange และ/หรือการเติมสารสารจำพวก fresh frozen plasma อาการได้แก่ ชารอบปาก ชาปลายมือปลายเท้า ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้ทำการรักษามักให้ยาเม็ดแคลเซียมรับประทานก่อนเริ่มกระบวนการรักษาในรายที่ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงในการเกิด รวมทั้งมีการเฝ้าติดตามอาการและสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มจนเสร็จสิ้นกระบวนการการรักษาโดยทีมแพทย์และพยาบาล

ข้อมูลจาก อาจารย์ แพทย์หญิงรัตตพร วิชิตรัชนีกร ฝ่ายการธนาคารเลือด รพ.จุฬาลงกรณ์

 นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่