ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี…วันนี้ทีมคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ…

ลาวัลย์ มะเจียรการ ประธานวิสาหกิจชุมชนป่าชุมชน ตำบลลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เล่าว่า…ชาวบ้านในชุมชนนอกจากจะทำอาชีพเกษตรกรเป็นหลักแล้ว ยังมีอาชีพเสริมจากการทำผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ขายสร้างรายได้อีกด้วย เนื่องจากในชุมชนมีการปลูกไม้ไผ่ (ไผ่นวล) เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงนำมาใช้ประโยชน์ ด้วยการนำมา “สานเฝือกไม้ไผ่” หรือที่เรียกว่า “แผงไม้ไผ่” ขายเป็นสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

ส่วนผลิตภัณฑ์ “แผ่นไม้ไผ่อัด” นั้นเกิดจากแนวคิดในการใช้เศษไม้ไผ่ที่เหลือจากการทำจักสานเฝือกที่จะมีเศษไม้ไผ่เหลือเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการทำเฝือกไม้ไผ่นั้นจะใช้ไม้ไผ่ประมาณ 20% ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 80% ชาวบ้านมักจะนำไปเผาทิ้ง โดยชาวบ้านในชุมชน 60 ครัวเรือนเผาเศษไม้ไผ่ที่เหลือจากการสานเฝือกไม้ไผ่ทิ้งมากว่า 30 ปี จากการสำรวจทำให้พบว่ามีการเผาเศษไม้ไผ่ทิ้งเดือนละกว่า 4 ตัน

ประธานวิสาหกิจชุมชนป่าชุมชนตำบลลุ่มสุ่ม กล่าวอีกว่า เศษไม้ไผ่ที่เหลือทิ้งนั้นมีจำนวนมากรู้สึกเสียดาย คิดว่าน่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าการเผาทิ้ง เลยเกิดความคิดว่าต้องนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้ได้ ก็พยายามวิ่งไปดูงานที่เกี่ยวกับการแปรรูปไม้ไผ่ตามที่ต่าง ๆ ในทุกภาคส่วน แต่ก็ไม่ตรงกับโจทย์ที่ต้องการ จนได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่นำฟางข้าวมาทำเป็นชิ้นงานได้ ก็เลยคิดว่าเศษไม้ไผ่ก็น่าจะทำได้ จึงรวมกลุ่มกับชาวบ้านประมาณ 10 กว่าคน หอบเอาเศษไม้ไผ่ใส่ถุงปุ๋ยไปที่กรมป่าไม้ ให้ช่วยคิดการแปรรูปเศษไม้ไผ่ให้เป็นผลิตภัณฑ์ให้ ใช้เวลาอยู่ประมาณ 2 เดือน ในที่สุดก็สามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ไผ่อัดออกมาได้สำเร็จ หลังจากคิดทำผลิตภัณฑ์จากเศษไม้ไผ่มาได้สำเร็จ ก็ได้ขอเครื่องมือในการทำผลิตภัณฑ์ไปที่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพในที่สุดก็สามารถทำผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ไผ่อัดออกมาขายได้สำเร็จ

“โดยทางวิสาหกิจชุมชนป่าชุมชนตำบลลุ่มสุ่มได้ทำผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ไผ่อัดออกมาขาย ภายใต้แบรนด์ วี-วัลย์ (V-WAN) นอกจากนั้นยังมีการต่อยอดนำแผ่นไม้ไผ่อัดไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ของใช้ในบ้าน, เฟอร์นิเจอร์, กระถางเพาะกล้า เป็นสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี” ประธานวิสาหกิจชุมชนป่าชุมชนตำบลลุ่มสุ่มกล่าว

ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 300,000 บาทขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นค่าเครื่องมือหลัก ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำชิ้นงาน

ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 50% จากราคาขาย ราคาขายแผ่นไม้ไผ่อัดอยู่ที่ 80-120 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด และความหนาของแผ่นไม้ไผ่อัด ส่วนสินค้าที่แปรรูปจากแผ่นไม้ไผ่อัดเป็นเฟอร์นิเจอร์ มีราคาตั้งแต่ 1,000 บาท ขึ้นไป ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับประเภทของเฟอร์นิเจอร์ หรือตามรูปแบบที่ลูกค้าสั่งทำ

อุปกรณ์ ที่จำเป็นที่ใช้ทำแผ่นไม้ไผ่อัด…เครื่องหั่นย่อยเศษไม้ไผ่, เครื่องบด, เครื่องอัดร้อนไฮโดรริก, เครื่องผสม,กาวแดง, บล็อก (สำหรับไว้ฟอร์มทำให้เศษไม้ไผ่ที่บดเป็นแผ่น), ดอกไม้สด หรือดอกไม้แห้ง (สำหรับทำลวดลายลงบนแผ่นไม้ไผ่อัด)

ขั้นตอนการทำ…แผ่นไม้ไผ่อัด

เริ่มจากนำเศษไม้ไผ่ไปใส่ในเครื่องหั่นย่อยก่อน แล้วค่อยนำไปใส่ลงในเครื่องบดเพื่อทำการบดเศษไม้ไผ่ให้พอหยาบ ๆ หลังจากที่บดเศษไม้ไผ่แล้วก็นำไปใส่ตะแกรงเกลี่ยให้ทั่วเสร็จแล้วนำเข้าไปอบที่โรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อไล่ความชื้นออกจากไม้ไผ่ โดย
ใช้เวลาในการอบประมาณ 3 วัน จากนั้นก็นำเศษไม้ไผ่ที่บดและตากไล่ความชื้นแล้วมาใส่ในเครื่องผสม และใช้กาวแดงใส่เครื่องพ่น แล้วฉีดพ่นผสมเข้าไปในเครื่องที่มีไม้ไผ่บด เมื่อผสมคลุกเคล้าเข้ากันจนทั่ว นำเศษไม้ไผ่ที่ผสมกาวออกมาไปเกลี่ยใส่ในบล็อกเพื่อทำการฟอร์มให้เป็นแผ่น จากนั้นใช้แผ่นไม้กดอัดให้แน่น นำบล็อกออกก็จะได้ไม้ไผ่ที่อัดเป็นแผ่น จากนั้นก็ทำการตกแต่งลวดลาย โดยการนำใบไม้แห้ง ดอกไม้ หรือจะใช้ดอกไม้สดก็ได้มาวางไว้ด้านบนแผ่นไม้อัดตามที่ต้องการ

หลังจากที่ตกแต่งลวดลายเสร็จตามที่ต้องการแล้วให้นำกระดาษเซฟร่อนมาวางทับลงบนแผ่นไม้อัดก่อนที่จะนำแผ่นเหล็กมาวางทับลงไปอีกที เพื่อเป็นการป้องกันแบบติดกับเหล็ก จากนั้นนำแท่งเหล็กสำหรับกำหนดความหนาของแผ่นไม้ไผ่อัดวางไว้ด้านข้างของตัวแบบ เสร็จแล้วก็นำเข้าเครื่องอัดความร้อน ใช้ความร้อน 120 องศา บนล่าง และใช้แรงอัด 60 นิวตัน โดยใช้เวลาในการอัดประมาณ 7 นาที พอครบกำหนดเวลาก็นำออกจากเครื่องอัดนำแผ่นเหล็กออกและแกะแผ่นไม้ไผ่อัดออกตากให้แห้ง แล้วนำไปตัดขอบ หรือตัดให้ได้รูปแบบตามที่ต้องการ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำแผ่นไม้ไผ่อัดพร้อมจำหน่าย ซึ่งจะขายเป็นแผ่นไม้ไผ่อัด หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็ตามแต่ลูกค้าต้องการ

สนใจงาน “แผ่นไม้ไผ่อัด” รวมทั้งผลิตภัณฑ์ หรือเฟอร์นิเจอร์จากแผ่นไม้ไผ่อัด ของวิสาหกิจชุมชนป่าชุมชนตำบลลุ่มสุ่ม สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลหรือสั่งทำชิ้นงานได้ทางเฟซบุ๊ก : V-WAN แผ่นไม้ไผ่อัด หรือทางโทรศัพท์ โทร. 08-5702-7141…นี่เป็นอีกชิ้นงานแฮนด์เมดที่เป็นการพัฒนาต่อยอดนำทรัพยากรธรรมชาติอย่าง “ไม้ไผ่” มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้แบบยั่งยืน.

คู่มือลงทุน…แผ่นไม้ไผ่อัด
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 300,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัสดุ ประมาณ 50% จากราคาขาย
รายได้ ราคา 80-120 บาทต่อแผ่น
แรงงาน จำนวน 1 คนขึ้นไป
ตลาด ตลาดงานแฮนด์เมด, ขายออนไลน์
จุดน่าสนใจ สร้างรายได้จากเศษไม้ไผ่เหลือทิ้ง

……………………………..
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่