ใน พ.ศ. 2567 นี้ และเนื่องในโอกาส “วันช้างไทย” ซึ่งตรงกับ 13 มีนาคมของทุกปี ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของช้างซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติและเพื่อให้เกิดจิตสำนึกช่วยกันอนุรักษ์ช้างไทย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้ดำเนินโครงการ “การตรวจสุขภาพและการดูแลรักษาช้าง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

โดย ดร.นสพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศ ไทย ได้เป็นผู้นำในการออกตรวจสุขภาพและรักษาช้างในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งในปี พ.ศ.2566 ได้ทำการรักษาช้างของชาวบ้านรวมทั้งสิ้น 1,198 ครั้ง จากช้างจำนวนประมาณ 300 เชือก ในพื้นที่จังหวัด สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ซึ่งจะหมุนเวียนมาให้คุณหมอรักษาเดือนละ 60-100 เชือก ตามความสมัครใจของควาญช้าง นอกจากนี้ ยังได้จัดยาส่งให้กับช้างที่อยู่จังหวัดห่างไกลอื่น ๆ เช่น ภูเก็ต ชลบุรี พังงา กระบี่ และ สุราษฎร์ธานี ที่ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือและปรึกษาอาการความเจ็บป่วยของช้างในการดูแลอีกด้วย โดยได้รับการสนับสนุนยาประเภทต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นในการรักษาช้างจาก บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด เพื่อให้ช้างมีสุขภาพที่แข็งแรง และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตรวจสุขภาพช้าง รักษาช้างที่เจ็บป่วย ให้ยาป้องกันโรคติดต่อแก่ช้าง ให้ยาถ่ายพยาธิและยาฆ่าเหาช้าง รวมทั้งยาบำรุงสุขภาพช้าง ดังนี้

มกราคมจำนวน 82 เชือก กรกฎาคมจำนวน 107 เชือก กุมภา พันธ์จำนวน 112 เชือก สิงหาคมจำนวน 126 เชือก มีนาคม จำนวน 124 เชือก กันยายนจำนวน 94 เชือก เมษายนจำนวน 98 เชือก ตุลาคมจำนวน 75 เชือก พฤษภาคม จำนวน 101 เชือก พฤศจิกายน จำนวน 63 เชือก มิถุนายนจำนวน 132 เชือก ธันวาคมจำนวน 84 เชือก สรุปตลอดทั้งปี 2566 ดำเนินการช่วยเหลือช้างไปทั้งสิ้น 1,198 ครั้ง ในการดำเนินการตรวจรักษานั้น  ดร.นสพ.อลงกรณ์ กล่าวว่า เน้นการให้ยาป้องกันโรค เนื่องด้วยต้องการเน้นเรื่องการป้องกันโรคเป็นหลักเพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่แต่ถ้าเจ็บป่วยจะใจเสาะยิ่งกว่ามนุษย์และสุนัข การป้องกันโรคที่ดีก็คือ ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคที่มีประสิทธิภาพในแต่ละเชือก และนำไปสู่ภูมิคุ้มกันในหมู่ช้าง 300 เชือก ที่ได้ดูแลอยู่ ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ได้จากประสบการณ์กว่า 40 ปี ตั้งแต่ในอดีตที่คุณหมอได้รักษาช้างเร่ร่อนและได้ผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา โดยมีการปรับปรุงตัวยานำมาปรับเป็นสูตรใช้รักษาอาการช้างแต่ละเชือกอย่างเหมาะสมและต้องใช้เข็มฉีดยา จนทำให้ร่างกายของช้างตอบสนองได้ค่อนข้างดี ซึ่งโรคที่อันตรายและต้องเฝ้าระวัง คือ Avian flu (H5N1) SARS MERS โรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อเฉียบพลัน หรือ EEHV ยาฉีดที่ให้ช้างจะเน้นไปทำให้อวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลืองเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรคและป้องกันการเกิดโรคติดต่อในระยะยาว ฤทธิ์ยาจะไปเพิ่มความแข็งแรงของเยื่อเมือกที่บุภายในอวัยวะต่าง ๆ เช่น เส้นเลือด และทางเดินอาหาร ทำให้ยากต่อการที่เชื้อโรคจะเข้าไปทำลายได้ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสมรณะ (EEHV) ในปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ช้างที่อยู่ในพื้นที่จำนวนประมาณ 300 เชือก ไม่พบว่ามีอาการของโรคไวรัสมรณะตัวนี้ ส่วนโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คือโรคคอบวม หรือโรคโลหิตเป็นพิษ (HS) ก็ไม่พบว่ามีการติดต่อในช้างเช่นกัน สุขภาพของช้างโดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

แม้ว่า ดร.นสพ.อลงกรณ์ มหรรณพ เกษียณอายุตั้งแต่ พ.ศ.2560 (พ.ศ.2554 เกษียณจากองค์การสวนสัตว์, พ.ศ.2560 เกษียณจากสำนักพระราชวัง ตำแหน่งที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา) แต่ก็ยังคงดูแลรักษาช้างมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2518 จนถึงปัจจุบัน โดยได้รักษาช้างมาแล้วทั้งสิ้น ประมาณ 35,000 ครั้ง.

ทีมข่าววาไรตี้สัตว์เลี้ยง

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่