คนไทยแบกหนี้ครัวเรือนกันหลังแอ่น 16.2 ล้านล้านบาท เป็นตัวเลขที่ยืนเด่นมาตั้งแต่ไตรมาส 3/2566

คนส่วนใหญ่ยากจน เป็นหนี้สะสมต่อเนื่องกันมา 8 ปี เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจซบเซา ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ “GDP” ขยายตัวต่ำอย่างต่อเนื่อง หลังการรัฐประหารในปี 57 เพราะ GDP โตเฉลี่ยไม่ถึง 2% ต่อปี อยู่ในอันดับท้าย ๆ ของกลุ่มประเทศอาเซียน แถมมาเจอปัญหาการระบาดของโควิด-19 อีก 3 ปี

เมื่อโควิด-19 คลี่คลายไปแล้ว ภาวะทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในโลกฟื้นตัวเร็ว! แต่ของไทยกลับฟื้นตัวช้า! จากปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงกว่า 90% ของ GDP และปัญหาของดอกเบี้ยแพง!

โดยมีช่วงห่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝาก-ดอกเบี้ยเงินกู้ มากกว่า 4-5% คนส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในสภาพทำงานหารายได้มาใช้หนี้ มากกว่าการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน

ขนาดข้าราชการรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ต้องเสียว! เกี่ยวกับเรื่อง “ตกงานถูกลดเงินเดือน” ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แต่ก็แบกหนี้สินไว้กันเพียบเหมือนกัน ถึงขั้นรัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ต้องจัดโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบหนี้ในระบบ ครอบคลุมมายังข้าราชการรัฐวิสาหกิจด้วย

ตั้งแต่การให้ “สหกรณ์ออมทรัพย์” ต่าง ๆ ช่วยพิจารณาปรับลดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ โดยการหักหนี้แล้วต้องให้บรรดาข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ เหลือเงินไว้จับจ่ายใช้สอยเพื่อการดำรงชีพในแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 30%

อีกปัญหาหนึ่งที่น่าติดตาม คือ ภาวะเงินเฟ้อเดือนก.พ.67 ยังคงติดลบที่ -0.77% เป็นการติดลบเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน สวนทางกับเงินเฟ้อในสหรัฐที่กลับเพิ่มขึ้นที่ 3.2% และเงินเฟ้อในจีนกลับมาเป็นบวกที่ +0.7%

เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ อีกทั้งเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงขยายตัวได้ดี จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐคงไม่ลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นตามที่คาดการณ์กัน แต่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยกลับดูแย่ลง เมื่อหลายสำนักเริ่มปรับลด GDP ของไทยในปี 67 เหลือเพียง 2% กว่า ๆ เท่านั้น

ข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับยอดการผลิตรถยนต์เดือนม.ค.67 มีการผลิตรถยนต์รวมทุกประเภททั้งสิ้น 142,102 คัน ลดลงจากเดือน ม.ค. 66 คิดเป็น 12.46% เนื่องจากผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงถึง 33.62%

โดยเฉพาะการผลิตรถกระบะเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงถึง 50.89% ตามยอดขายที่ลดลงจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินเพราะหนี้ครัวเรือนยังคงสูง

ขณะที่บริษัทประมูลรถรายใหญ่ย่าน จ.ปทุมธานี บอกว่าโดยปกติสถานการณ์การยึดรถเข้าลานประมูลเฉลี่ย 150,000-180,000 คันต่อปี แต่ปลายปี 66 เพิ่มขึ้นถึง 250,000-300,000 คันต่อปี (เพิ่มขึ้น 35%) สะท้อนมาจากลูกหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น รถถูกยึดสูงขึ้น เนื่องจากลูกหนี้ผ่อนชำระกันไม่ไหวจริง ๆ

ส่วนสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บอกว่าเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่สูง ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้สินเชื่อบ้าน โดยเฉพาะคนที่ซื้อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีรายได้ไม่เพียงพอผ่อนจ่ายหนี้ เสี่ยงจะเกิดหนี้เสียเพิ่ม

เมื่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง ทำให้ธนาคารเข้มงวดปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านในเดือน ก..67 เพิ่มขึ้นถึง 60-70% จากเดิมกระทบเฉพาะคนที่ซื้อบ้านต่ำกว่าราคา 3 ล้านบาท เริ่มลุกลามไปถึงบ้านราคา 5 ล้านบาท กู้ผ่านยาก!

จากสภาพโดยรวม ณ ปัจจุบัน มีผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังบอกกับ “พยัคฆ์น้อย” เศรษฐกิจไทยในเวลานี้อยู่ในสภาพ “วิกฤติกำลังซื้อ” ถ้าไม่มีเม็ดเงินโครงการไหนเลยมาใส่มือประชาชน สถานการณ์เศรษฐกิจจะยืดเยื้อต่อไปอีก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้อ

ถ้าไม่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะ “วิกฤติกำลังซื้อ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็ลองไปเดินถามพ่อค้า-แม่ค้าในตลาดสด ตลาดนัด ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ดูบ้างสิ!!.

……………………………..
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…