ทั้งนี้ จากข่าวนี้ก็ “ชวนให้คิดถึงภาพในอีกมุม” ในมุมซึ่งคนไทยหลายคนอาจจะไม่เคยรู้…เกี่ยวกับ “ฉากชีวิตนักรบแรงงานจากไทย” กลุ่มนี้ ที่ในแต่ละปีมีคนไทยจำนวนไม่น้อยตัดสินใจ “บินไปทำงานเก็บเบอร์รีป่า”…

“ฉากชีวิต” ของคนกลุ่มนี้ก็ “มีมุมวิจัย”

มีการ “ศึกษา-ฉายภาพชีวิตคนกลุ่มนี้”

ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อ…

เกี่ยวกับงานศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้ มีชื่อว่า… “การศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์เพื่อให้การส่งคนไทยไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย” ซึ่งดำเนินการจัดทำไว้โดย ดร.อุกฤษฎ์ มูสิกพันธุ์ นักวิชาการ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ และคณะ โดยระบุวัตถุประสงค์การศึกษาไว้ว่า…เพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิการคุ้มครองแรงงานในการส่ง “แรงงานไทยไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์” และเป็นข้อมูลพื้นฐานการกำหนดรูปแบบการจ้างงานที่เหมาะสมกับกฎหมายไทยและฟินแลนด์ เพื่อกำหนดท่าทีของไทยในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์แรงงานกลุ่มนี้

ทั้งนี้ รายงานศึกษาวิจัยมีการ “ฉายภาพ ไว้ถึง “พัฒนาการการไปทำงานเก็บเบอร์รีป่าในฟินแลนด์” ของ “กลุ่มแรงงานไทย” โดยระบุไว้ว่า…ปี 2548 การจัดส่งแรงงานไทยเดินทางไปเก็บผลเบอร์รีป่า (wild berry) ตามฤดูกาลในฟินแลนด์เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวเชิงอุตสาหกรรม ความต้องการผลเบอร์รีป่าในตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้น จุดมุ่งหมายการเก็บเบอร์รีป่าที่เคยเป็นการเก็บเพื่อบริโภคในท้องถิ่นเปลี่ยนเป็นการผลิตเชิงพาณิชยกรรม และรูปแบบฟาร์ม หากแต่ “ตลาดเบอร์รีโลก” ที่ขยายตัว “นิยมผลเบอร์รีป่ามากกว่าฟาร์ม” จน “มีความต้องการแรงงานทำงานนี้”

จากการที่การ “เก็บเบอร์รีป่า” เป็นไปในเชิงพาณิชย์มากขึ้น จากความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นในการนำแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานเก็บเบอร์รีป่า โดยข้อมูลของฟินแลนด์ในปี 2554 มีแรงงานต่างชาติทำงานเก็บเบอร์รีป่าในเชิงพาณิชย์สูงถึง 4,000 คน และรูปแบบการเข้าไปทำอาชีพเก็บเบอร์รีป่าก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีรูปแบบเป็นการชักชวนจากคนในครอบครัวหรือญาติมิตรที่มีหลักแหล่งในฟินแลนด์ ก็พัฒนาเป็นรูปแบบองค์กรภายใต้ความร่วมมือระหว่างผู้จัดเก็บ ผู้จัดจำหน่าย ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก และ ธุรกิจนายหน้าแรงงาน ที่จัดหาแรงงานต่างชาติไปทำงานนี้ ซึ่งนี่เป็น “ไทม์ไลน์”…

กรณี “งานเก็บเบอร์รีป่าฟินแลนด์”

ที่ก็ “มีแรงงานไทยบินไปทำไม่น้อย”

แล้ว แรงงานไทยกลุ่มนี้คือใคร??… ประเด็นนี้ชุดข้อมูลจากงานวิจัยได้มีการฉายภาพไว้ว่า… แรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าหรือเบอร์รีป่าในฟินแลนด์ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอิสระในภาคเกษตรกรรม ที่ประกอบอาชีพหลักทำไร่ทำนาตามฤดูกาลเพื่อการยังชีพ ในหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่วนมากมีการศึกษาในระดับที่ไม่สูง กับไม่สามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศของประเทศที่เดินทางไปทำงานได้ ที่สำคัญ… หากพิจารณาจาก “หนี้สินครัวเรือน” ของแรงงานกลุ่มนี้ ผลศึกษาพบว่า…ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ที่ “มีรายได้จากอาชีพหลักไม่เพียงพอ”

จากข้อจำกัดนี้นี่เองเป็นปัจจัยทำให้ แรงงานไทยส่วนใหญ่ที่ “ไปทำงานเก็บเบอร์รีป่า” ที่ฟินแลนด์ “เริ่มต้นไปทำงานพร้อมด้วยหนี้สิน” เพราะไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจเพียงพอ ทำให้ “ต้องกู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับคนกลาง” เพราะแรงงานส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง แม้แต่การเจรจาข้อตกลงการทำงาน การต่อรองสัญญา และอีกสาเหตุที่แรงงานกลุ่มนี้ยอมเป็นหนี้เพื่อใช้เป็นค่าบริการของคนกลาง เพราะส่วนใหญ่ มีความหวังด้านรายได้จากการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ช่วงสั้น ๆ แม้จะรู้ดีว่า “มีสถานะเป็นแค่แรงงานชั่วคราว”

ทั้งนี้ “สภาพความเป็นอยู่” ของ แรงงานไทยเก็บเบอร์รีป่า นั้น งานวิจัยก็ได้มีการฉายภาพไว้ว่า… เมื่อแรงงานไทยเดินทางถึงฟินแลนด์จะมีคนมารับไป ซึ่ง ที่พักอาศัยส่วนใหญ่เป็นอาคารเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ที่รองรับคนได้ 30-100 คน ตามแต่ขนาดและความต้องการคนงานของแต่ละพื้นที่ โดย แรงงานไทยจะไปพักอาศัยเป็นระยะเวลาประมาณ 50 วัน

ส่วน “รูปแบบการทำงาน” ที่การเก็บเบอร์รีป่าไม่เหมือนเก็บในฟาร์ม แรงงานไทยต้องเดินทางไปเก็บในป่าตามธรรมชาติ ซึ่งอาจมีระยะทางไกลจากที่พักนับร้อยกิโลเมตร และต้องใช้วิธีเดินเท้าเข้าป่าไปเก็บ ซึ่งก็เป็นระยะทางไกล ประกอบกับการเก็บ
เบอร์รีป่าต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้ผลเบอร์รีช้ำ ทำให้ไม่อาจจะเร่งรีบได้ จึงจำเป็นต้องใช้เวลา และเพื่อให้มีเวลาทำงานเพียงพอ บางครั้งต้องออกเดินทางตี 2 เพื่อให้ถึงพื้นที่ทำงาน 6 โมงเช้า และเดินทางกลับเวลา 2 ทุ่ม จนถึงที่พักเวลาราว 5 ทุ่ม ซึ่งการต้องเดินทางไกล-มีชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน “งานเก็บเบอร์รีป่า” จึงเป็น “งานเหนื่อยหนัก”…

แต่… “ทำงานเมืองนอก…ก็ยังเป็นฝัน”

ฝันที่ “มีค่าหัวคิว-มีกรณีไม่เป็นธรรม”

มี “ฝันร้าย…เสียทั้งเหงื่อ-ทั้งน้ำตา”

และก็ “เป็นเช่นนี้มายาวนาน…”.