คงนอนหลับสบาย ฝันดีกันไปแล้ว สำหรับการทำหน้าที่ “สั่งลา” ของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยสว.ชุดนี้จะอยู่ครบวาระในวันที่ 10 พ.ค. 67 จึงขอเปิดอภิปรายการทำงานของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่อยู่มา 6 เดือนกว่าๆ แบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 153 เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา

แต่ไม่รู้ว่า ใครอภิปรายใครกันแน่? เนื่องจากนายเศรษฐานายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ชี้แจงกับ สว.ว่ารัฐบาลยินดีมาตอบด้วยความเต็มใจ ไม่เคยคิดว่าเหตุใด 8 ปีก่อน ไม่เคยเรียกมาอภิปรายในมาตรานี้ แต่รัฐบาลนี้เพิ่งมาทำงานได้แค่ 7 เดือน ยังไม่มีงบประมาณ เพราะงบฯปี 67 เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ชี้แจงหลังถูกอภิปรายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากสว.หลายคนยังก้าวข้ามไม่พ้นอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ว่านายทักษิณกลับเข้ามารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม วันที่ 22 ส.ค.66 ซึ่งขณะนั้นอยู่ในยุค “รัฐบาลประยุทธ์” ส่วนคนกำกับกระทรวงยุติธรรม คือ นายวิษณุ เครืองาม รวมถึงข้าราชการประจำ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ยังเป็นชุดเดียวกัน โดยตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ไม่ได้สั่งปรับเปลี่ยนใคร

...ทวีเข้ารับตำแหน่งรมว.ยุติธรรม ในวันที่ 11 ..66 หลังจากนายทักษิณเข้าไปรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ส่วนการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่มีมาก่อนอยู่แล้ว ไม่ได้มีอดีตนายกฯทักษิณคนเดียว แต่ยังมีบุคคลอื่น 4-5 หมื่นคน ดังนั้นที่กล่าวหาว่าทำลายกระบวนการยุติธรรม ตนกลับมองว่าการทำลายระบบยุติธรรม คือการยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ!

พยัคฆ์น้อย” ฟัง สว.หลายคนอภิปราย ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปยัง “เซลส์แมนเศรษฐา” ขยันไปต่างประเทศ การแก้ปัญหาปากท้องยังไม่เป็นรูปธรรม การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต การพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา การเปิดช่องแจกที่ดินส...ติดแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่ไฮไลต์ของ สว. คือการอภิปราย “ทักษิณ” ทั้งที่กรณี “ทักษิณ” นั้นพ้นขอบเขตอำนาจศาลไปแล้ว มาอยู่กรมราชทัณฑ์เพื่อบังคับโทษ-บริหารโทษ และกรมราชทัณฑ์ไม่ใช่หน่วยงานภายใต้การกำกับของศาล แต่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงยุติธรรม

การที่“ทักษิณ”จะเจ็บป่วยมาก-น้อยอย่างไร เป็นความเห็นของแพทย์ ไม่ได้เกี่ยวกับนายเศรษฐา และ พ.ต.อ.ทวีเลย! นายทักษิณจะหายป่วยช้าหรือเร็ว ก็ไม่ได้เกี่ยวกับแพทย์-นายกฯ-รมว.ยุติธรรม ดังนั้นการอภิปรายนัดสั่งลาของ สว. ถ้าไม่มีเรื่อง “ทักษิณ” จึงน่าจะเป็นการอภิปรายที่ “ผักบุ้งโหรงเหรง”

“พยัคฆ์น้อย” ชอบในช่วงที่ สว.เสรี สุวรรณภานนท์ อภิปรายว่านายกฯ รู้หรือไม่ว่าประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เพราะการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง อยากให้รัฐบาลอยู่อย่างยั่งยืนครบวาระ แต่ประเทศไทยมีปัญหา หาคนบริหารประเทศหายาก หาคนที่มีประสิทธิภาพ ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ก็หายาก ฝ่ายค้านก็เอาแต่จะล้มล้างการปกครอง เราไม่รู้จะหาทางไหน

คืออภิปรายรัฐบาลอย่างเดียวไม่พอ! ยังถือโอกาสเฉียด! ไปอภิปรายฝ่ายค้านด้วย

เสร็จสิ้นจากการอภิปรายของ สว.ไปแล้ว คราวนี้มาถึงคิวพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคก้าวไกล จะอภิปรายทั่วไปรัฐบาล แบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย.67

การอภิปรายแบบไม่ลงมติ ถือว่าเป็นการแนะนำตักเตือนการทำงานของรัฐบาล แต่ถ้าต้องการเอาเป็นเอาตายทางการเมือง ก็ต้องขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ลงมติ) ตามมาตรา 151

โปรดจับตา! ว่างานนี้อาจเป็นรายการ “สั่งลา” ของนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล-ผู้นำฝ่ายค้าน และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. และอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล คงถือโอกาสจัดหนัก จัดเต็มชุดใหญ่ใส่รัฐบาล! ก่อนไปรอลุ้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง ซึ่งมีโทษยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค!!.

…………………………
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…