ด้วยรูปลักษณ์สวยงาม รสชาติอร่อย ตอบโจทย์ของลูกค้าได้เป็นอย่างดี และมักจะเห็นขนม 2 ชนิดนี้ใช้รับรองแขกตามงานต่าง ๆ ด้วย วันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” นำข้อมูลขนม 2 ชนิดนี้แนะนำให้กับคนที่มองหาอาชีพอิสระ

ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ คือ ธนพร ถาวรวัตย์ หรือ “ชม” วัย 58 ปี เจ้าของร้านขนมไทย “ใครใครก็ชม” ซึ่งเล่าถึงที่มาของอาชีพให้ฟังว่า เดิมนั้นเธอทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ นาน ๆ ไปก็รู้สึกเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ กับงานที่ทำ และอาจเป็นเพราะช่วงนั้นงานมีปัญหาเยอะ ทำให้รู้สึกไม่อยากไปทำงาน ประกอบกับเคยฝันไว้ตั้งแต่เด็กว่าอยากจะทำอาชีพค้าขาย แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรขายดี มีคนรู้จักแนะนำว่าควรจะทำในสิ่งที่เราชอบและรักแล้วจะทำได้ดี สิ่งแรกที่นึกถึงคือขนมไทย

เริ่มจากซื้อหนังสืออาหารและขนมไทยมาลองฝึกทำด้วยตัวเอง และอาศัยครูพักลักจำจากเจ้าอร่อย ๆ ที่ไปชิมมา แล้วก็นำมาประยุกต์ จับอันนั้นใส่นิด จับอันนี้ใส่หน่อยตามความชอบของตัวเอง คือลองผิดลองถูกเอง แล้วทำไปให้น้อง ๆ ที่ทำงานช่วยชิมเพื่อติชมแบบตรง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุง ทำไปปรับไปเรื่อย ๆ จนมั่นใจแล้วจึงลาออกจากงานมาทำสาคูไส้หมูขาย ตัวสาคูจะบาง นุ่ม หนึบเหนียวกำลังดี ตัวไส้จะไม่ใส่หมูสับเพราะขายได้เฉพาะกลุ่มเดียว แต่ถ้าจะเป็นไส้ไชโป๊หวานกับถั่วลิสงคั่วซึ่งขายได้กับลูกค้าทุกกลุ่ม”

ชม บอกอีกว่า มีลูกค้าขาประจำมากขึ้นเรื่อย ๆ ปากต่อปากจนมีคนและอีเวนต์ติดต่อให้ไปออกงานบ่อย ๆ และเพิ่มเมนู “ข้าวเกรียบปากหม้อ” ขายคู่กัน เพราะใช้ไส้ตัวเดียวกัน จะใช้สีจากอัญชันและใบเตยแท้ ๆ เพื่อให้ขนมได้กลิ่นและสีจากสมุนไพรล้วน ๆ และเพื่อสนองคำเรียกร้องของลูกค้า พี่ชมจึงจัดทำ ตัวไส้สำเร็จ กก.ละ 200 บาทและแป้งสำเร็จข้าวเกรียบปากหม้อ ถุงละ 25 บาท ไว้บริการด้วย

อุปกรณ์ หลัก ๆ ก็มีกระทะทองเหลือง, หม้อลาวทรงสูง, เตาแก๊ส, ทัพพี, กระชอน, ไม้พาย, ถาด, อ่างผสม, ผ้าขาวบาง และภาชนะต่าง ๆ ที่ใช้ในครัวเรือน

วัตถุดิบ มี สาคูเม็ดเล็ก 1 กก., แป้งสำเร็จข้าวเกรียบปากหม้อ 1 กก. ถั่วลิสงคั่วบด 4 ถ้วยตวง, หอมหัวแดงสับ 2 ถ้วยตวง, ไชโป๊หวานสับ 2 ถ้วยตวง, นํ้าตาลปี๊บ 1 ถ้วยตวง, ซีอิ๊วขาว, พริกไทยเม็ดดำ 2 ช้อนโต๊ะ, รากผักชี 4-5 ราก, กระเทียม 6 กลีบ, เกลือป่น, นํ้ามันพืช และกระเทียมเจียว ส่วนผักเคียงที่ใช้รับประทานกับขนมสาคู มี ผักกาดหอม, ผักชี และพริกขี้หนูสวน

ขั้นตอนการทำ “สาคู-ข้าวเกรียบปากหม้อ”

เริ่มจาก ทำไส้ก่อน โขลก 3 เกลอคือ รากผักชี, กระเทียม, พริกไทย ตั้งกระทะใส่นํ้ามัน พอร้อนใส่ 3 เกลอลงผัดให้หอม ใส่หอมแดงสับลงไปผัดให้หอม ใส่ตามด้วยไชโป๊หวานสับผัดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยนํ้าตาลปี๊บ ซีอิ๊วขาว และเกลือ ผัดไปเรื่อย ๆ ให้ส่วนผสมข้นเหนียว แล้วค่อย ๆ นำถั่วลิสงคั่วบดใส่ตามลงไป ผัดต่อด้วยไฟอ่อนไปเรื่อย ๆ จนส่วนผสมแห้งและเหนียว ปิดไฟตักส่วนผสมใส่ภาชนะขึ้นพักไว้ให้เย็น

เม็ดสาคูที่เตรียมไว้แช่นํ้าประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง บิดจนหมาด ๆ เทใส่ภาชนะจะเห็นได้ว่าสาคูจะเริ่มพองตัว ต่อจากนั้นให้ขยำเม็ดสาคูพอให้ติดกัน (ขั้นตอนนี้ห้ามนวด ไม่งั้นสาคูจะเหนียวเกินไป) แล้วนำมาปั้นได้เลย

การปั้น ใช้มือหยิบสาคูมาแผ่ออก ใส่ไส้ แล้วจับจีบปิดไส้ให้มิดปั้นเป็นก้อนกลม ๆ จนหมด นำหม้อลาวทรงสูงปากกว้างขึงด้วยผ้าขาวบางให้ตึง เปิดริมผ้าด้านนึงประมาณ 3 ซม.ให้ไอนํ้าพุ่งขึ้นมาได้ เติมนํ้าเปล่าลงไป 3/4 ของหม้อ พอเดือดวางสาคู ปิดฝาประมาณ 10 นาที เปิดฝาเช็กดู เห็นสาคูเริ่มใสบางส่วนก็ใช้ได้ ตักใส่ถาดที่มีนํ้ามันพืช เคล้าพอทั่วเพื่อไม่ให้สาคูติดกัน

ข้าวเกรียบปากหม้อ ผสมแป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วย, แป้งมัน 1 ช้อนโต๊ะ, นํ้าเปล่า ½ ถ้วย, นํ้าดอกอัญชัน หรือนํ้าใบเตยประมาณ ½ ถ้วย นวดส่วนผสมให้เข้ากัน ตักแป้งเทลงบนผ้า เกลี่ยแป้งให้บาง ปิดฝาไว้ 20 วินาที แป้งสุกใช้ไม้พายกรีดแป้งให้ได้ 4 ส่วน หยิบไส้วางลงบนแป้งแต่ละส่วน ใช้พายปาดแผ่นแป้งหุ้มให้ทั่วไส้ ตักขึ้นพักไว้ในถาดที่มีนํ้ามัน เวลารับประทานให้โรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว รับประทานคู่กับผักกาดหอม ผักชี และพริกขี้หนู

ราคาขาย “สาคู-ข้าวเกรียบปากหม้อ” เจ้านี้ ขายชุดละ 35 บาท ถ้าเป็นสาคูจะมี 10 ลูก, ข้าวเกรียบปากหม้อมี 8 ชิ้น

ใครสนใจอยากชิม “สาคู-ข้าวเกรียบปากหม้อ” เจ้านี้ ขายทุกเช้าที่ตลาดเลิศอุบล หน้าร้านครัวชาวใต้ รามอินทรา, วันพุธที่ 2 ขายที่ รพ.จุฬาฯ ต้องการสั่งขนมไปใช้ในงานต่าง ๆ ติดต่อสอบถามข้อมูลกับ ชม-ธนพร ถาวรวัตย์ เจ้าของกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” รายนี้ ได้ที่ โทร. 08-1449-6089 ขนมไทยชนิดนี้ แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ยังคงดำรงอยู่คู่คนไทยอย่างเหนียวแน่น และนี่ก็เป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ที่น่าพิจารณา!!….

คู่มือลงทุน..สาคู-ข้าวเกรียบปากหม้อ
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 10,000 บาท
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60 % ของราคาขาย
รายได้ ขาย 35 บาท/ชุด
แรงงาน 1-2 คนขึ้นไป
ตลาด ร้านของฝาก, งานอีเวนต์, ตลาด
จุดน่าสนใจ ประยุกต์สูตรขายได้ทุกเทศกาล

……………….
เชาวลี ชุมขำ

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่