ผมคุยกับ “หมอชัย” นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จัดว่าเป็นนักวิชาการทางด้านการเกษตรสมัยใหม่ และมีประสบการณ์ทั้งการเลี้ยงไก่-หมู-วัว-สวนมะม่วง

หมอชัย” บอกว่าปีนี้ผลผลิตการเกษตรราคาดีมากพอสมควร โดยเฉพาะข้าวเปลือกยางพารา และพระเอกที่กำลังมาแรงคือ “ทุเรียน”

ตัวแรกคือข้าวเปลือกนาปรัง ปีนี้ถือว่าสูงที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา แม้ราคาข้าวสายพันธุ์เวียดนาม (ที่เรียกว่าข้าวเบอร์ 5 หรือ 20 หรือ 80) จะต่ำกว่าข้าวพันธุ์ไทย (ข้าว กข) แต่ถ้าเทียบในระหว่างข้าวสายพันธุ์เดียวกัน ทั้งข้าว กข และข้าวเบอร์ ต่างก็มีราคาสูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มามาก คิดแล้วราคาขึ้นมาประมาณ 2,000-3,000 บาท/ตัน

ถ้าราคายืนอยู่ในระดับนี้ไปตลอดฤดูนาปีและนาปรังของปี 67 ที่จะมีปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกออกมาประมาณ 35 ล้านตัน เฉพาะปัจจัยราคาที่เพิ่มขึ้น จะสามารถทำรายได้เพิ่มให้ชาวนาทั้งประเทศ ได้ราวปีละ 70,000-105,000 ล้านบาท

ขณะที่ราคายางพารา (ตลาดกลางยางพารา จ.หนองคาย) เมื่อวันที่ 28 มี.ค.67 ราคาน้ำยางสด 77.50 บาท/กก. ยางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 (ไม่อัดก้อน) 86.85 บาท/กก.

บางคนบอกว่าราคายางฯแพง เพราะช่วงนี้ยางฯผลัดใบ กรีดยางฯไม่ได้ รวมทั้งการสกัดจับกุมยางฯเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีผลต่อราคายางฯ เพราะยางฯเถื่อนมีจำนวนนิดเดียว!

ขอพูดแบบนี้ว่าแล้ว 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำไมช่วงยางฯผลัดใบ ราคาจึงป้วนเปี้ยนอยู่ที่ กก.ละ 40 กว่าบาท เท่านั้น ส่วนเรื่องยางฯเถื่อน ถ้าเขามียางฯเถื่อนอยู่สต๊อกแค่ 5-10% เท่านั้น โดย 5-10% คือยางฯที่โอเวอร์ซัพพลาย แต่สามารถปั่นราคา กดราคายางในตลาดได้ เพราะชาวสวนยางกรีดยางฯขายทุกวัน

ถ้าแกล้งไม่ซื้อยางฯ 1-2 วัน เพื่อกดราคา! ชาวสวนอาจจะอยู่ได้ แต่ก็เดือดร้อน เนื่องจากต้องหาเงินมาจับจ่ายใช้สอยรายวัน แต่ถ้าหยุดซื้อยางฯ 7 วัน เพราะยังมียางฯโอเวอร์ซัพพลายในสต๊อก ชาวสวนที่กรีดยางฯทุกวันอยู่ไม่ได้หรอก! ปัจจุบันสามารถปลูกยางฯหลายภาคทั่วประเทศ และยังพอกรีดได้ในช่วงนี้ เพียงแต่ได้น้ำยางฯน้อยหน่อย

มาถึง “ทุเรียน” เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 67 มีข่าวบริษัท Shanghai East Best ลงนามสัญญาซื้อขายทุเรียน จากกลุ่มเกษตรกร จ.จันทบุรี จำนวน 3,000 ตู้ มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท โดย 400 ตู้แรก จะส่งไปถึงประเทศจีนภายในเดือนเม.ย.67

งานนี้ “หมอชัย” บอกว่า นี่คือทศวรรษของความคลั่งไคล้ทุเรียน พ่อค้าทุเรียนรายใหญ่ของจีนเขารู้ดีว่า The Decade of Durian Fever กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อถึงฤดูกาลที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ของจะขาดตลาดอย่างแน่นอน เพราะกำลังการผลิตไม่มีทางที่จะขยายตัวได้ทันตามกำลังบริโภคในจีนที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมันจะเป็นเช่นนี้ไปอีกเป็นสิบปีทีเดียว

อันที่จริงนอกจากไทย ยังมีหลายประเทศสามารถปลูกทุเรียนได้ เช่น จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย แต่ทุเรียนเป็นไม้ผลที่ปลูกยาก มีความ “เซนซิทีฟ” สูง! หิมะตก หนาวไป ร้อนไป แล้งจัด หรือมีน้ำมากไปก็ไม่ดี ติดดอก ติดลูกยาก รวมทั้งมีพายุ-ไต้ฝุ่นเข้ามามากก็ไม่ดี เพราะดอกจะร่วง ลูกจะร่วง รากจะเน่า

แต่เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะทุเรียนไทยเวียดนามฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่ส่งเข้าไปจีน แต่ยังไม่พอกับความต้องการบริโภคของคนจีน ส่วนมาเลเซียได้ผลผลิตแค่พอบริโภคในประเทศ เนื่องจากคนมาเลเซียบริโภคทุเรียนเฉลี่ย 11 กก./คน/ปี

สำหรับไทยปลูกทุเรียนได้ผลปีละ 1.2 ล้านตัน ส่งออกไปจีนและประเทศอื่น ๆ 80-90% เหลือบริโภคภายในประเทศ 3 แสนตัน เฉลี่ยคนไทยบริโภคทุเรียน 4.5 กก./คน/ปี

ขณะที่คนจีน (1,400 ล้านคน) ยังบริโภคทุเรียนเฉลี่ยแค่ 7 ขีด/คน/ปี หรือประมาณปีละ 1 ล้านตัน/ปี แต่ถ้าคนจีนบริโภคทุเรียนเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า เป็น 2.1 กก./คน/ปี ไทย-เวียดนามจะไปเอาทุเรียนจากไหนอีก 2 ล้านตัน มาให้คนจีน? แล้วถ้าไทยจะเพิ่มการส่งออกทุเรียนไปจีนอีก 1 ล้านตัน ต้องใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 5 แสนไร่ ปลูกวันนี้อีก 4-5 ปี จึงจะออกผล

ดังนั้นภาคเอกชนจีนเขารู้ว่าทุเรียนจะขาดตลาดแน่ ๆ จึงต้องสั่งจองล่วงหน้า! ปัจจุบันราคาทุเรียนหน้าสวน กก.ละ 133 บาท ปลูกทุเรียน 1 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กก. เท่ากับได้เงิน 266,000 บาท/ไร่ โดยมีต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 50,000 บาท ก็ยังมีกำไรไร่ละ 216,000 บาท ดีกว่าปลูกพืชชนิดอื่นมากมาย เพราะคนจีนกำลังถูกโฉลกกับทุเรียนมาก!!.

………………………………..
พยัคฆ์น้อย