แบบประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน

               เครื่องมือประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานของประเทศไทย พัฒนามาจากผลการวิจัยติดตามระยะยาวของกลุ่มตัวอย่างการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยมีการศึกษาในคนที่ไม่เป็นโรคเบาหวานเมื่อเริ่มการสำรวจจำนวน  13,893 คน  และมีการติดตามการเกิดโรคเบาหวานเป็นเวลา 10 ปี จากการวิเคราะห์ผลการวิจัยนี้ สามารถสร้างแบบประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โดยใช้ประวัติของการมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และสามารถให้คะแนนความเสี่ยงในแต่ละปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคเบาหวานในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งคะแนนรวมที่สูงขึ้น แปลว่ามีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น โดยมีสองแบบประเมิน คือ แบบที่ 1 ไม่ใช้ผลการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (fasting plasma glucose, FPG) แบบที่ 2 ใช้ผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือสูง แต่ยังไม่เป็นเบาหวาน) ซึ่งแบบประเมินนี้อาจประเมินโดยบุคลากรทางการแพทย์ หรือประเมินด้วยตนเองก็ได้ แบบประเมินความเสี่ยงนี้ได้มาจากการวิจัยของกลุ่มตัวอย่างของประชากรไทย ดังนั้นจึงค่อนข้างแน่ใจว่าสามารถนำมาใช้กับคนไทยได้

Closeup shot of a doctor with rubber gloves taking a blood test from a patient

               ประโยชน์ของการประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคบาหวานโดยใช้แบบสอบถาม มีดังนี้

               •  สามารถระบุกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง เพื่อที่จะได้ให้การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค

               •  สามารถวางแผนการดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม โดยหากพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง อาจต้องมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อติดตามระดับน้ำตาลในเลือดและเริ่มการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ตัวอย่างการประเมินคะแนนความเสี่ยงโรคเบาหวาน

               นายสมชาย อายุ 45 ปี (2 คะแนน) น้ำหนัก 95 กก. สูง 170 ซม. ดัชนีมวลกาย = 32.9 กก./ตร.ม. (3 คะแนน) รอบเอว 105 ซม. รอบเอวต่อความสูง =0.62 (5 คะแนน) ประวัติโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง ขณะนี้รักษากินยาสม่ำเสมอ ความดันโลหิต 130/85 มม.ปรอท ( 2 คะแนน) ไม่มีประวัติเบาหวานในครอบครัว (0 คะแนน) รวมคะแนน เท่ากับ (2+3+ 5+2+0) =12 คะแนน

               จากคะแนนประเมิน นายสมชายมีความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ความเสี่ยงปานกลางค่อนไปทางเสี่ยงสูง มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานในอนาคตได้ประมาณร้อยละ 10  ข้อแนะนำสำหรับนายสมชาย ควรลดน้ำหนัก และรอบเอวโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งถ้าสามารถลดได้ คะแนนความเสี่ยงจะลด ถ้ารอบเอวสามารถลดน้อยกว่า 90 ซม. (รอบเอวต่อความสูง = 0.53 คะแนนรอบเอวเท่ากับ 2 คะแนน) และถ้าน้ำหนักตัวลดลงเหลือ 85 กก. ให้ดัชนีมวลกายเหลือประมาณ 25.9 (คะแนนดัชนีมวลกายเท่ากับ 1 คะแนน)  ความเสี่ยงจะลดลงอย่างน้อย 4 คะแนน และความเสี่ยงลดลงเป็น 8 ซึ่งอยู่ในระดับเกณฑ์ความเสี่ยงลดน้อยลง

ข้อแนะนำและแนวทางดูแลสุขภาพในระดับความเสี่ยงต่างๆ

               •  ระดับความเสี่ยงน้อย จนถึงต่ำกว่าปานกลาง : ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานต่ำ ไม่จำเป็นต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ

               •  ระดับความเสี่ยงปานกลาง : ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานปานกลาง ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุก 1-3 ปี

               •  ระดับความเสี่ยงสูงและสูงมาก : ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานสูง ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกปี

               สรุป โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยมาก คนที่ไม่เป็นเบาหวานในขณะนี้ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานในอนาคต เพื่อให้ตระหนักว่าตนเองมีความเสี่ยงระดับใด น้ำหนักเกินหรืออ้วน เป็นความดันโลหิตสูง และ/หรือมีประวัติเบาหวานในครอบครัวหรือไม่ และคำนวณว่าตนเองมีโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวานมากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปสู่การวางเป้าหมายและปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยง โดยการมีกินอาหารอย่างเหมาะสม และการออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อการรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานในอนาคต

Young Asia female doctor in white medical uniform using clipboard is delivering great news talk discuss results

ตาราง แบบประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวานใน 10 ปี ข้างหน้า

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2คะแนนความเสี่ยง
ไม่มี FPGมี FPGคะแนน
อายุ (ปี)35-4411 
 45-4922
 50-5933
 มากกว่าหรือเท่ากับ 6044
ดัชนีมวลกาย* (กก./ตรม.)น้อยกว่า 2300 
 23-27.511
 >=27.533
รอบเอวต่อความสูง< 0.500 
 > 0.5 – < 0.633
 >0.655
ความดันโลหิตสูง (มม. ปรอท)ไม่มี (ความดันโลหิต <120/80 มม.ปรอท )00 
 ความดันโลหิต 120-139/90 มม.ปรอท หรือเป็นความดันโลหิตสูงแต่ควบคุมได้ <140/90 มม.ปรอท22
 เป็น ( ความดันโลหิต >140/90 มม.ปรอท)44
ประวัติเบาหวานในญาติสายตรง (พ่อ/แม่/พี่/น้อง)ไม่มี00 
 มี22
น้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร(Fasting Plasma Glucose, FPG)<100 มก./ดล.0 
 100 -125 มก./ดล.5
 คะแนนรวม   
ระดับความเสี่ยงของการเกิดเบาหวาน ใน 10 ปีข้างหน้า
 น้อย (ร้อยละ 5 หรือน้อยกว่า)< 6< 7 
 น้อย ค่อนไปทางปานกลาง (ร้อยละ 6-10)7 – 98-10 
 ปานกลาง ค่อนไปทางสูง (ร้อยละ 11-20)10 – 1211-14 
 สูง (ร้อยละ 21-30)13 -1415-16 
 สูงมากๆ (ร้อยละ 30 หรือมากกว่า)> 15> 17 

* วิธีการคำนวณดัชนีมวลกาย ใช้น้ำหนักตัว หน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วย (ส่วนสูงหน่วยเป็นเมตร ยกกำลังสอง)

ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์วิชัย เอกพลากร ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่