ไม่ว่าจะเป็นธรรมเนียมทางกฎหมายที่เข้มแข็ง, การเป็นที่ตั้งขององค์กรข้ามชาติ และหน่วยงานระหว่างประเทศหลายแห่ง ตลอดจนการเข้าถึงได้ง่ายในระดับโลก สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ตัดสินทางกฎหมายที่หลายฝ่ายต้องการ

ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) หรือศาลอาญาโลก และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก ซึ่งเป็นศาลระหว่างประเทศสองแห่งซึ่งทรงอิทธิพลที่สุด และตั้งอยู่ที่กรุงเฮก มีคำตัดสินที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน และความขัดแย้งรุนแรงระหว่างอิสราเอล กับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา

แม้แต่กลุ่มเหยื่อของการทำเหมืองเกลือ ที่สร้างความเสียหายในบราซิล ก็ยื่นฟ้องบริษัทปิโตรเคมียักษ์ใหญ่ “บราสเคม” ต่อศาลในเมืองรอตเทอร์ดาม นับเป็นหนึ่งในการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยระหว่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเช่นกัน

นางเซซิลี โรส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมือง จากมหาวิทยาลัยเลเดน กล่าวว่า เนเธอร์แลนด์ เป็นแหล่งรวมการดำเนินคดีระหว่างประเทศ เนื่องจากการฟ้องร้องในประเทศนี้ สามารถดำเนินการได้ง่ายกว่า

“เกณฑ์ทางกฎหมายสำหรับการดำเนินคดีร่วมในเนเธอร์แลนด์นั้น อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้องค์กรอิสระ (เอ็นจีโอ) สามารถดำเนินคดี เพื่อสาธารณประโยชน์ในศาลเนเธอร์แลนด์ได้ง่ายขึ้น” โรส กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่ นายลียง คาสเทลลานอส-ยานคีวิช นักวิจัยอาวุโส จากสถาบันแอสเซอร์เพื่อกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายยุโรป ระบุเสริมว่า คดีที่มีผลกระทบระหว่างประเทศ มักไปถึงศาลเนเธอร์แลนด์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า เนเธอร์แลนด์เป็นที่ตั้งของบริษัทข้ามชาติที่เข้าถึงได้ทั่วโลก เช่น เชลล์, ยูนิลีเวอร์ หรือไฮเนเก้น

นอกจากนี้ เนเธอร์แลนด์ยังมีบุคลากรด้านกฎหมายที่มีทักษะสูง และมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งในการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงมีธรรมเนียมที่ให้ความสำคัญ กับการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งการส่งเสริมการพัฒนาระเบียบกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ถือเป็นเป้าหมายถาวรในนโยบายต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ด้วย

อนึ่ง กรุงเฮก ตั้งอยู่ริมชายฝั่งเนเธอร์แลนด์ ระหว่างกรุงอัมสเตอร์ดัม กับเมืองรอตเทอร์ดาม และถูกมองว่าเป็น “เมืองแห่งสันติภาพและความยุติธรรม” มาตลอด โดยมีองค์กรอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งแรก คือ ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (พีซีเอ) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2442

“แม้คดีความต่าง ๆ ในเขตอำนาจศาลเหล่านี้ เป็นอิสระจากศาลเนเธอร์แลนด์โดยสิ้นเชิง เนื่องจากคดีเหล่านั้นอยู่ในระบบของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่มันก็ขยายประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นข้อกังวลระดับโลก” คาสเทลลานอส-ยานคีวิช กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP