ประมาณปี 2493 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประเทศไทยมีประชากรแค่ 21 ล้านคน (ข้อมูลทะเบียนราษฎร ณ สิ้นปี 2566 มีคนไทย 66,052,615 คน ลดลง 37,860 คน เมื่อเทียบกับปี 2565) ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมการมีบุตรด้วยมาตรการต่างๆ เช่น คู่สมรสใหม่ได้ดูหนังฟรี 30 วัน คนท้องขึ้นรถเมล์ฟรี ลูกคนแรกได้รับการศึกษาฟรี ห้ามคุมกำเนิด หรือแม้กระทั่งเก็บภาษีชายโสดเพิ่มขึ้น

ต่อมาช่วงปี 2506-2526 คนไทยปั๊มลูกกันระเบิดเถิดเทิง! ทำให้มีอัตราการเกิดสูงสุดในปี 2514 ถึง 1,200,000 คน ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำนโยบายวางแผนครอบครัว “มีลูกมากยากจน”

ผ่านมา 50 ปี สถานการณ์ทางด้านประชากรกลับตาลปัตร เนื่องจากรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข กำลังทำโครงการ “มีลูกเพื่อชาติ” หลังจากปี 2564 ประเทศไทยมีอัตราการเกิด 544,570 คน อัตราการตาย 550,042 คน ปี 2565 อัตราการเกิด 502,107 คน อัตราการตาย 595,965 คน พูดง่าย ๆ ว่าเกิดน้อยกว่าตาย แถมคนแก่อายุยืน!

มีการคาดการณ์ว่า ถ้าอยู่ในสภาพนี้ต่อไปจำนวนประชากรไทยจะลดลง เหลือเพียง 33 ล้านคน ในปี 2626 ประชากรวัยแรงงานช่วงอายุ 15-64 ปี จะลดลงเหลือเพียง 14 ล้านคน ส่วนประชากรวัยเด็กช่วงอายุ 0-14 ปี เหลือเพียง 1 ล้านคน ผู้สูงวัย 65 ปีขึ้นไป จะมากถึง 18 ล้านคน สัดส่วนผู้สูงวัยจะมากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ

ไม่เฉพาะไทยที่กำลังกุมขมับกับปัญหา “เด็กเกิดน้อยกว่าตาย” แต่เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ก็กำลังมีปัญหาอัตราการเกิดต่ำสุดเหมือนกัน รวมทั้งประเทศจีนที่เพิ่งเสียแชมป์โลกทางด้านจำนวนประชากรให้กับอินเดียเมื่อปี 2566 โดยจีนมีประชากร 1,425 ล้านคน ส่วนอินเดียมีประชากร 1,428 ล้านคน เพราะจีนกำลังเผชิญกับอัตราการเกิดต่ำต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 (2565-2566) ในขณะที่การแต่งงานก็ลดลงเป็นประวัติการณ์ในปี 2565

ถึงขั้นหลายมณฑลของจีน ประกาศทุ่มเงินหลายล้านบาท แจกรางวัลลุ้นโชคให้กับคู่แต่งงานใหม่ที่แสดงทะเบียนสมรส เพื่อกระตุ้นการแต่งงานในช่วงเวลาที่อัตราการเกิดต่ำในจีน

ส่วนประเทศไทย ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เม..ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้นำเสนอครม.ให้พิจารณารายงานสมุดปกขาว ข้อเสนอเชิงนโยบาย “วิกฤติประชากรและสังคมสูงวัย” เพื่อให้ความเห็นชอบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อไป

ปัจจุบันทุกภาคส่วนทราบดีว่าประเทศไทย เจอปัญหาวิกฤติประชากรเกิดต่ำ และกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อย ๆ

ปัญหาใหญ่ไปกว่านั้นคือการเป็น “ผู้สูงวัยที่ไม่มีเงินออม” เนื่องจากช่วง 8 ปีที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ต่างก็จนกรอบ เพราะ “จีดีพี” ของประเทศเติบโตเฉลี่ยไม่ถึง 2% จึงติดกับดักรายได้ปานกลาง รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างสอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อภาระหนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 16.2 ล้านล้านบาท (ไตรมาส 3/2566)

ดังนั้นจึงเป็น “งานใหญ่” ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่การดึงดูดนักลงทุนเข้ามาสร้างงาน สร้างรายได้ของประชาชนให้สูงขึ้น เพื่อลดภาระหนี้สินครัวเรือน รวมไปถึงมาตรการจูงใจต่าง ๆ เพื่อให้คนรีบแต่งงานแล้วมีลูก เหมือนที่หลาย ๆ ประเทศกำลังทำอยู่

โดยรัฐบาลกำลังจะทำโครงการเพื่อแก้ “วิกฤติกำลังซื้อ” ภายในประเทศ เพื่อฉุด “จีดีพี” ให้ขยับขึ้นไปยืนเหนือ 3% เสียที! ด้วยโครงการดิจิทัล วอลเล็ต คนละ 10,000 บาท โดยใช้เงินประมาณ 500,000 ล้านบาท

ถ้า “จีดีพี” ของประเทศขยับสูงขึ้น คนส่วนใหญ่มีหน้าที่การงานมั่นคง มีรายได้เพิ่มมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น การตัดสินใจแต่งงานมีครอบครัวและมีลูกก็จะง่ายขึ้น การแก้ปัญหา “วิกฤติประชากรและสังคมสูงวัย” ก็จะง่ายขึ้นด้วย!!.

…………………………………
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…