อย่างไรก็ตาม แหล่งรายได้ของพวกเขากลับถูกพรากไปอย่างกะทันหัน เมื่อรัฐบาลการากัส ของเวเนซุเอลา ปิดพรมแดนทางทะเลและทางอากาศ ติดกับกือราเซา ในปี 2562 เนื่องจากข้อพิพาททางการทูต ก่อนที่การกลับมาเปิดพรมแดนเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ตลาดแห่งนี้ค่อย ๆ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และมอบความหวังให้กับครอบครัวกอร์เดโร

“การเปิดพรมแดนอีกครั้ง ถือเป็นข่าวดีสำหรับทุกคน สำหรับชาวเวเนซุเอลา และชาวกือราเซา เพราะมันเป็นแหล่งรายได้สำหรับทุกคน” นายเรเน กอร์เดโร วัย 32 ปี กล่าว

รัฐบาลการากัส ระงับการเดินทางทางอากาศและทางทะเล ไปยังกือราเซา ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภายหลังการเลือกตั้งใหม่ของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ผู้นำเวเนซุเอลา เมื่อปี 2562 ซึ่งถูกประณามอย่างกว้างขวางว่า “ไม่เสรี และไม่ยุติธรรม”

ในเวลานั้น กือราเซาได้รับอาหารและยาจากสหรัฐ ในรูปแบบของ “ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม” ตามคำร้องขอของนายฮวน กวยโด แกนนำฝ่ายค้านของเวเนซุเอลา ซึ่งในภายหลัง ทำเนียบขาวยอมรับเขาในฐานะ “ผู้นำโดยพฤตินัยของเวเนซุเอลา” จากการประสบความล้มเหลวในความพยายามขับไล่มาดูโร

กระทั่งเมื่อเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว รัฐบาลของทั้งสองประเทศ ตกลงที่จะเปิดพรมแดนอีกครั้ง รวมถึงตลาดน้ำกือราเซา ที่มีอยู่มาตั้งแต่ปี 2461 ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้รับการดูแล จากชาวเวเนซุเอลาในกรุงวิลเลมสตัด เป็นเวลาประมาณ 2 เดือนต่อรอบ ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด และให้คนอื่นเข้ามาดูแลแทน

เวเนซุเอลา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศร่ำรวย ประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ร่วงลงถึง 80% ในรอบ 10 ปี ส่งผลให้ประชาชนมากกว่า 7 ล้านคน อพยพออกนอกประเทศ

ระหว่างปี 2553-2562 เวเนซุเอลา กับเกาะ 3 แห่งในหมู่เกาะใกล้เคียง ได้แก่ กือราเซา, อารูบา และโบแนร์ มีการค้าขายแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 7,300 – 11,000 ล้านบาท)

ทั้งนี้ รายได้ของผู้ค้าในตลาดน้ำกือราเซา ส่วนใหญ่มาจากเรือสำราญที่แล่นผ่านทางมา ส่วนเรเนต้องเดินทางออกจากเวเนซุเอลา ไปยังกือราเซา ด้วยเรือของครอบครัว เป็นเวลาประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อตั้งแผงขายของ ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นด้วย

แม้ลูกค้าในพื้นที่หลายคนกล่าวว่า สินค้าที่ตลาดน้ำแห่งนี้ มีราคาดีกว่าสินค้าในซูเปอร์มาร์เกต และทุกอย่างดูสดใหม่ แต่ตลาดกือราเซา ยังไม่กลับสู่สภาพเดิม เพราะจากเดิมที่มีเรือของเวเนซุเอลา ประมาณ 30 ลำ แล่นเข้า-ออกเกาะ แต่ปัจจุบัน เหลือเพียง 6 ลำเท่านั้น.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP