ไต้หวัน ตั้งอยู่บนแนวเปลือกโลกเรียงตัวกันเป็นแนวคล้ายเกือกม้า ที่เรียกกันว่า “วงแหวนแห่งไฟ” ซึ่งเกาะและประเทศที่อยู่ในบริเวณนี้ เช่น ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ต่างเผชิญกับแผ่นดินไหวรุนแรงหลายครั้งหลายหน ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองฮวาเหลียน ทางตะวันออกของเกาะไต้หวัน และมีความรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่แผ่นดินไหวรุนแรง 7.6 แมกนิจูด เมื่อเดือน ก.ย. 2542 คร่าชีวิตประชาชนในไต้หวันราว 2,400 ราย และถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ของเกาะ แต่ถึงอย่างนั้น ระดับความเสียหายในกรณีล่าสุด กลับน้อยกว่าเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของโลก เมื่อปีที่แล้ว

“มันเคยมีเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายน้อยมาก เพราะอาคารสั่นไหวเพียงเล็กน้อย จากการถูกสร้างขึ้นเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือน แต่ในทางกลับกัน มันก็มีเหตุแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่สร้างความเสียหายมหาศาล จากอาคารที่สั่นไหวอย่างรุนแรง และ/หรือพังทลาย เนื่องจากมันไม่ได้รับการออกแบบ หรือสร้างให้ทนต่อแรงสั่นสะเทือน” สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ (ยูเอสจีเอส) ระบุ

ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยวิศวกรรมแผ่นดินไหวแห่งชาติ (เอ็นซีอาร์อีอี) ไต้หวันมีข้อกำหนดเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในบทบัญญัติอาคารมานานหลายสิบปี ซึ่งมันถูกปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง เมื่อได้รับบทเรียนจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่บนเกาะ และสถานที่อื่น ๆ ในโลก เพื่อรวมวิธีการก่อสร้างที่ทนต่อแผ่นดินไหว

ตึกระฟ้า “ไทเป 101” ซึ่งก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2542 และเคยเป็นอาคารสูงที่สุดในโลก มีแดมเปอร์ หรือลูกตุ้มยักษ์หนัก 660 เมตริกตัน ซึ่งตอบสนองต่อการโยกของตึก ขณะที่เอ็นซีอาร์อีอี ระบุว่า อาคารประมาณ 80 แห่งในไต้หวัน เมื่อปี 2552 มีโครงสร้างสำหรับรับมือเหตุแผ่นดินไหว และจำนวนอาคารที่มีลักษณะดังกล่าว ก็เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1,000 แห่ง ภายในปี 2565

ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทเป ยังกำหนดให้มีการเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารเก่าแก่ ก่อนนำข้อบังคับอาคารมาบังคับใช้ด้วย เนื่องจากอาคารเหล่านี้ มักเป็นสาเหตุหลักของความกังวลในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว

นอกจากนี้ ไต้หวัน ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านบริษัทเทคโนโลยีล้ำสมัย สร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าขั้นสูง ที่สามารถแจ้งเตือนประชาชนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวร้ายแรงได้ ภายในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งระบบข้างต้นได้รับการปรับปรุงตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ไต้หวันตรวจวัดแผ่นดินไหวหลายพันครั้งในทุกปี แม้ส่วนใหญ่จะเป็นแรงสั่นสะเทือนขนาดเล็กก็ตาม แต่เกาะแห่งนี้มีการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เช่นเดียวกับญี่ปุ่น รวมถึงการฝึกซ้อมรับมือแผ่นดินไหวเป็นประจำ ทั้งในโรงเรียน และสถานที่ทำงาน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP