ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พูดใน “คุยนอกจอ” ของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรณีซื้อบ้าน นายปรีดี พนมยงค์ ที่ฝรั่งเศส เมื่อ 29 ก.พ. 2567 ช่วงหนึ่งว่า ถูกชักชวนจาก นายปิยบุตร แสงกนกกุล เพราะเห็นว่า ทุกประเทศมีอนุสรณ์สถานเป็นที่รำลึกนักสู้ประชาธิปไตย แต่ประวัติศาสตร์ 2475 มีถกเถียงต่อสู้ เขียนใหม่ สร้างใหม่ จึงซื้อเพื่อรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้ แม้จะถูกเพ่งเล็ง “ผมก็โดนเพ่งเล็งมาแยะแล้ว (หัวเราะ)” ตอนแรกเจ้าของชาวเวียดนามจะขายบริษัทคอนโดฯ ที่ให้ 1.6 ล้านยูโร ต่อรองขอ 1.4 ล้านยูโร ที่สุดซื้อที่ 1.6 ล้านยูโร (64 ล้านบาท) ใช้ชื่อภริยาเพราะผมคงไม่มีเวลาไปดูแลเอง บ้านก็น่ารัก มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไปหมด ทั้งราชนิกุล, ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์, ดร.โภคิน พลกุล ก็เคยมาพัก อยากทำเป็นพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ กลางเดือน พ.ค.-มิ.ย. 67 นี้ คงมีแผนจริงจังมาบอก”

การซื้อครั้งนี้ได้รับทั้งเสียงชื่นชมและเสียงจิกกัดในโลกโซเชียล บางคนเย้ยหยันว่า ซื้อไว้เผื่อตัวเองต้องลี้ภัยมั้ง ทั้งที่เค้าไม่ได้เอาเงินรัฐหรือคนด่าซักแดงไปซื้อหา แล้วไปเดือดร้อนอะไรด้วย หรือต้องซื้อซูเปอร์คาร์ ถึงดีงาม…ก็นะ 

กลับมาที่บ้านนายปรีดี จากหนังสือ “82 ปี 11 เดือน 21 วัน” ของ ดุษฎี พนมยงค์ ลูกคนที่ 5 ใน 6 คนของนายปรีดีกับ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ซึ่งได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพ่อ-แม่พร้อมน้องสาว วาณี พนมยงค์ หลังนายปรีดีลี้ภัยรัฐประหารปี 2490 ไปที่กรุงปักกิ่งถึง 21 ปี (ท่านผู้หญิงพูนศุข เอง ถูกจับเข้าคุก 84 วัน ข้อหากบฏ ที่สุดอัยการสั่งไม่ฟ้อง) จึงตัดสินใจลี้ภัยอีกครั้ง ไปอยู่ บ้านอองโตนี ที่นายธนาธร เพิ่งซื้อมานี่แหละ

ในข้อเขียน ครูดุษ (ชื่อสั้น ๆ ที่ลูกศิษย์เรียกขาน) หัวข้อ “ชุมชนแออัดชานกรุงปารีส” บอกว่า ช่วงแรกอยู่ห้องเช่าชุดเล็ก ๆ 30 ตร.ม. เลขที่ 11 Rue Emile Dubois เขต 14 ปารีส ต่อมาท่านผู้หญิงพูนศุขขายที่เมืองไทยและรวบรวมเงินมรดกซื้อบ้านพร้อมที่ดิน 100 ตร.ว. ที่เมือง “อองโตนี” ห่างกรุงปารีสไปทางใต้ 25 กม.ไว้ มี ดร.ป๋วย ผู้ว่าการแบงก์ชาติขณะนั้นกับ ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย ช่วยประสานโอนเงินจากไทยให้นายปรีดีอยู่ที่นี่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2514-2526 “ห้องที่เป็นหน้าเป็นตาใช้ต้อนรับผู้มาเยือนทุกคนเรียกว่าห้องอเนกประสงค์ มีชุดรับแขก โต๊ะกินข้าว และโทรทัศน์ 1 เครื่อง ห้องอเนกประสงค์นี้ ได้ต้อนรับแขกเหรื่อมากมาย ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ นักการเมือง ลูกศิษย์ลูกหาชาวธรรมศาสตร์” แม้เป็นบ้านชั้นเดียว แต่เคยมีคนอยู่สูงสุดถึง 25 คน…ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ

รวมทั้ง .ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้เป็นแบบอย่างที่กล้าหาญ ทระนงองอาจ เชิดชูประชาธิปไตย แล้วต้องลี้ภัยหลังเหตุฆ่าหมู่ 6 ต.ค. 19 กับข้อหาคอมมิวนิสต์ ก็ได้มาพักใจ ใช้เตียงผ้าใบเป็นที่นอนเมื่อฤดูไม้ใบผลิ ปี 2520 อยู่หลายวัน

วันที่ 2 พ.ค. 2526 นายปรีดีได้จากไปที่บ้านหลังนี้ “วันนั้นคุณพ่อค่อย ๆ เอนตัวตะแคงซ้ายฟุบไปที่โต๊ะทำงาน แล้วสิ้นลมอย่างสงบที่สุดในเวลาประมาณ 11.30 น.” ใครอยากอ่านเพิ่มเติมขอแนะนำ หนังสือของครูดุษฎี พนมยงค์ ที่เขียนเล่าเรื่องได้อรรถรส อ่านเพลิน ภาษาง่าย ๆ แต่ลึกซึ้งกินใจ ได้ความรู้ รวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากมาย   

อย่างที่รู้ นายปรีดีไม่เพียงเป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนของ “คณะราษฎร” ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 2475 ยังเคยเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษอาวุโส เป็นบุคคลสำคัญของโลก สำคัญเหนืออื่นใด ที่คนไทยอาจลืมเลือน คือ เป็นหัวหน้าขบวนการ “เสรีไทย” ที่ตั้งหน่วยก่อกวนกองทัพญี่ปุ่นในไทย โดยประกาศยืนข้างฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่เอาญี่ปุ่น ทำให้การประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐ เมื่อ 25 ม.ค. 2485 ของ รัฐบาลจอมพล ป. กลายเป็น “โมฆะ” เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยจึงรอดพ้นผลกระทบในฐานะผู้แพ้สงครามเช่นประเทศฝ่ายอักษะอื่น ๆ

นี่เป็นคุณูปการที่สมควรได้รับการยกย่อง มิใช่หรือ การซื้อบ้าน “อองโตนี” ของนายธนาธร ด้านหนึ่งจึงเป็นการรักษาเรื่องราวของผู้มีส่วนสำคัญต่อการสร้างประชาธิปไตยกับรักษาเอกราชของชาติไว้ไม่ให้สูญสลาย ขณะอีกด้าน เค้าเป็นศิษย์ ลูกแม่โดม มหาวิทยาลัยที่ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีส่วนสำคัญก่อเกิดขึ้นมา หวังให้ลูกชาวบ้านมีโอกาสเล่าเรียนศึกษาเอาวิชาความรู้ไปทำมาหากินและทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

การซื้อบ้าน “อองโตนี” ไว้ จึงถือเป็นความกตัญญูกตเวทีต่อ “ครู” ผู้มีพระคุณด้วย…มิใช่หรือ.

…………………………………….
ดาวประกายพรึก

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…