ชาวเอเชียเป็นมะเร็งหลอดอาหารมากกว่ายุโรปและอเมริกา สาเหตุอาจเกิดจากการระคายเคืองเรื้อรังหลอดอาหาร เช่น การอักเสบจากกรดไหลย้อน การสูบบุหรี่ ความเชื่อที่ว่าการดื่มน้ำชาร้อน ๆ เป็นประจำทำให้เป็นมะเร็งหลอดอาหารยังไม่มีการพิสูจน์

ก้อนมะเร็งที่หลอดอาหารในทรวงอกส่วนล่า

มะเร็งหลอดอาหารที่พบมากจะเกิดจากชั้นเยื่อบุผิว ถ้าเป็นหลอดอาหารส่วนบนจะเป็นชนิด squamous cell carcinoma มะเร็งหลอดอาหารส่วนล่างใกล้กระเพาะเป็นชนิด adenocarcinoma มีความสัมพันธ์กับโรคกรดไหลย้อน มะเร็งระยะแรก ๆ ไม่มีอาการจนกระทั่งลุกลามถึง 2/3 ของเส้นรอบวงจะมีอาการกลืนติด ตอนแรกเป็นอาหารปกติ ต่อมาอาหารอ่อน ๆ ก็ติด ในที่สุดแม้ดื่มน้ำก็กลืนไม่ลง อาจมีอาการสำลักเมื่อกลืน เพราะน้ำจะไหลเข้าทางหลอดลมตอนกลืนน้ำเพราะไหลลงทางหลอดอาหารไม่ยาก การสำลักเสี่ยงต่อปอดอักเสบติดเชื้อ มะเร็งอาจมีเลือดออกทำให้คนไข้ซีด เมื่อทานอาหารได้น้อยคนไข้ก็น้ำหนักลดลงเร็ว และอาจไอมีเสมหะจากการสำลัก พอซีดก็เหนื่อยง่าย หลอดอาหารมีผนังเพียงสองชั้น ต่างจากกระเพาะอาหารและลำไส้ที่ผนังมีสามชั้น มะเร็งของหลอดอาหารจึงแพร่กระจายออกสู่อวัยวะรอบ ๆ ได้ง่ายและเร็ว มะเร็งที่พบมากจะเกิดเยื่อบุผิวชั้นในของหลอดอาหาร แต่มีมะเร็งที่เกิดจากผนังชั้นนอกซึ่งประกอบด้วยกล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อลาย เป็นมะเร็งที่พบได้น้อยกว่ามาก เราเรียกว่า GISTs gastrointestinal stromal tumor ธรรมชาติของมะเร็งชนิดนี้คือ พบได้น้อยมากโดยเฉพาะที่หลอดอาหาร มะเร็งชนิดนี้พบในกระเพาะอาหารและลำไส้บ่อยกว่ามาก

ก้อนมะเร็งในหลอดอาหารส่วนทรวงอกอยู่ด้านหลังหัวใจ และต่อกับกระเพาะอาหาร

การวินิจฉัยก่อนผ่าตัดโดยการส่องกล้องหลอดอาหารจะมองไม่เห็น เพราะมะเร็งอยู่ในชั้นใต้เยื่อบุอาหาร การตรวจด้วยเอกเรย์คอมพิวเตอร์จะเห็นก้อนเนื้อในผนังหลอดอาหารได้ชัดเจน การวินิจฉัยก่อนผ่าตัดไม่นิยมการตัดชิ้นเนื้อโดยการส่องกล้องเพราะจะมองไม่เห็น และอาจเสี่ยงต่อการแพร่กระจายมะเร็งได้ การทำ PET scan จะช่วยวินิจฉัยได้ การรักษาหลักคือ การผ่าตัดโดยเฉพาะถ้าคนไข้มีอาการและก้อนมีขนาดใหญ่ การผ่าตัดมักจะต้องตัดหลอดอาหารออกด้วย ยกเว้นในกรณีที่ก้อนเล็กมาก อาจคว้านออกจากผนังหลอดอาหารได้ การรักษาหลังผ่าตัดขึ้นกับผลการตรวจชิ้นเนื้อถ้าพบว่าเซลล์มีความรุนแรงเช่นแบ่งตัวมาก โอกาสแพร่กระจายสูงก็ให้ยามุ่งเป้าหลังผ่าตัดต่อไป

การถ่ายภาพเอกเรย์ขณะกลืนสารทึบแสงเห็นรอยต่อหลอดอาหารและกระเพาะอาหารในทรวงอกปกติ

ตัวอย่างคนไข้ต่างชาติเพศชายอายุ 77 ปี มีอาการกลืนอาหารลำบาก น้ำหนักลด 5 กิโลกรัมเป็นมา 4 เดือน ระยะหลังกลืนน้ำแทบไม่ได้ จะไอเพราะสำลัก มาโรงพยาบาล แพทย์ตรวจด้วยเอกเรย์คอมพิวเตอร์พบมีก้อนในผนังหลอดอาหารตั้งแต่ระดับกลางทรวงอกมาถึงกระเพาะอาหาร ก้อนเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร  การส่องกล้องหลอดอาหารพบเยื่อบุผิวปกติ แต่ถูกดันในหลอดอาหารส่วนครึ่งล่าง ได้ผ่าตัดผ่านแผลทรวงอกขวาและช่องท้อง พบเนื้องอกขนาดใหญ่ของหลอดอาหารส่วนล่าง ได้ตัดออกและเราะกระเพาะอาหารไปต่อกับหลอดอาหารในทรวงอกด้านขวาส่วนบน หลังผ่าตัดคนไข้งดน้ำอาหารประมาณหนึ่งสัปดาห์ แล้วตรวจเอกเรย์พบรอยต่อไม่รั่ว กระเพาะอาหารปกติ หลังเอกเรย์คนไข้ค่อยรับประทานอาหารได้ ผลชิ้นเนื้อออกมาเป็น GIST มีการแบ่งตัวของเซลล์มาก ขอบหลอดอาหารและกระเพาะไม่มีเซลล์มะเร็ง ต่อมน้ำเหลืองที่เราะออกมาก็ไม่มีเซลล์มะเร็ง คนไข้สามารถรับประทานอาหารได้ดีกว่าก่อนผ่าตัดและวางแผนรักษาโดยการใช้ยาพุ่งเป้าต่อไป

กระเพาะอาหารถูกดึงขึ้นไปอยู่ในทรวงอกหลังหัวใจ

ข้อมูลจาก รศ.นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทรวงอก หลอดเลือดและหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 และ 2 / www.phyathai.com

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่