ตามตัวเลขขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุด จากจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทั่วโลก ประมาณ 10.6 ล้านคน เมื่อปี 2565 และมีจำนวนผู้เสียชีวิตครึ่งหนึ่ง จากทั้งหมด 1.3 ล้านรายทั่วโลก

แม้วัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ทว่าผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 3% มีอาการดื้อยาตามใบสั่งแพทย์ทั่วไป ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา การรักษาผู้ป่วยวัณโรคมีทั้งการฉีดยาทุกวัน หรือการรับประทานยาหนึ่งกำมือ เป็นเวลา 18 เดือนหรือนานกว่านั้น

ขณะที่บางคนต้องอดทนต่อผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น อาการคลื่นไส้ และในกรณีร้ายแรงที่สุด ก็อาจทำให้พวกเขาตาบอดได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนมากเลิกรักษาวัณโรคก่อนเวลาอันควร

แต่ตอนนี้ สูตรยาแบบใหม่ที่ใช้ยาแค่ไม่กี่เม็ด และมีผลข้างเคียงน้อยลง กำลังเปิดตัวในหลายประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งผลการทดลองหลายครั้งแสดงให้เห็นว่า อัตราการรักษาให้หายขาดอยู่ที่มากกว่า 90% หลังจากผ่านไป 6 เดือน

การรักษาข้างต้น ซึ่งมีชื่อว่า “บีพีเอแอล” (BPaL) เป็นการผสมผสานยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด ได้แก่ เบดาควิลีน, พรีโทแมนิด และไลนีโซลิด รวมทั้งได้รับการอนุมัติตามกฎระเบียบในกว่า 60 ประเทศ นับตั้งแต่ปี 2562 ตามข้อมูลของ “ทีบี อัลไลแอนซ์” ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และผู้พัฒนาสูตรยาดังกล่าว

อนึ่ง วัณโรค มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียที่โจมตีปอดหลัก และผู้ป่วยโรคนี้สามารถแพร่เชื้อทางอากาศ ผ่านการไอ การจาม และการพูด ซึ่งแม้วัณโรคสามารถพบได้ในทุกประเทศ แต่คนยากจนที่อยู่อาศัย และทำงานในสภาพแวดล้อมที่แออัด มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้

ความท้าทายใหญ่ที่สุดประการหนึ่ง ของการรักษาวัณโรคดื้อยา คือ การทำให้ผู้ป่วยรับประทานยาและรักษาตัวตามสูตร เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากประสบปัญหาเกี่ยวกับค่าเดินทางไปโรงพยาบาล และการสูญเสียรายได้หรืองาน แม้หลายประเทศมีบริการรักษาฟรีก็ตาม อีกทั้งอาการเจ็บป่วยและผลข้างเคียงของยา ยังส่งผลให้หลายคนหยุดรับประทานยาด้วย

ก่อนหน้านี้ ดับเบิลยูเอชโอ ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยา ลดลงมานานหลายปี แต่เพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การวินิจฉัยโรคและการรักษาชะงักงัน ซึ่งหลังจากความพยายามมหาศาลทั่วโลก ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ดับเบิลยูเอชโอ ก็เรียกร้องให้มีการเพิ่มเงินทุนเพื่อต่อสู้กับวัณโรคเช่นกัน

ด้านนายสันทีป จูเนจา รองประธานอาวุโสฝ่ายการเข้าถึงตลาด จากทีบี อัลไลแอนซ์ กล่าวถึง การจัดตั้ง “ศูนย์กลางความรู้” ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อให้การฝึกอบรม, ช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ตลอดจนเร่งการเปิดตัวบีพีเอแอล ซึ่งจูเนจา หวังว่า ยาสูตรดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาวัณโรคยุคใหม่ ซึ่งดำเนินการง่ายกว่า และใช้เวลาสั้นกว่า.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES