การอภิปรายครั้งล่าสุดได้รับความสนใจอย่างมาก ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เมื่อคลังสมอง “กองทุนเยอรมัน มาร์แชลล์” (จีเอ็มเอฟ) ในกรุงวอชิงตัน เผยแพร่รายงานที่เน้นย้ำถึง “การอธิบายลักษณะที่ไม่ถูกต้อง” ของจีน ในมติสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ที่ 2758 ซึ่งได้รับการรับรอง เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2514

ทั้งนี้ มติดังกล่าวรับรองรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้แทนอันชอบธรรมตามกฎหมายของจีน ประจำยูเอ็นเพียงหนึ่งเดียว และขับไล่ “ตัวแทนของเจียง ไค-เชก” ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลก๊กมินตั๋งในไต้หวัน เมื่อปี 2518

แต่รายงานความยาว 53 หน้า ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลไทเป โต้แย้งว่า แม้มติข้างต้นทำให้จีนมีบทบาทพิเศษในการเป็นตัวแทนของจีน ประจำยูเอ็น และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) แต่มันกลับไม่มีการดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขสถานะทางกฎหมายระหว่างประเทศของไต้หวัน

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศจีน โต้แย้งการค้นพบในรายงานดังกล่าว โดยระบุว่า มติที่ 2758 “ยืนยันหลักการจีนเดียว” ขณะที่โฆษกของกระทรวง กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่สหรัฐอ้างว่า มตินี้ไม่ได้ระบุถึงสถานะของไต้หวัน หรือขัดขวางการมีส่วนร่วมที่มีความหมายในระบบยูเอ็น “เป็นเรื่องโกหก”

ด้านนายมาร์ค แลมเบิร์ต เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวในงานเผยแพร่รายงานของกองทุนเยอรมัน มาร์แชลล์ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ว่า มันมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันผลักดันการแก้ไขมติที่ 2758 ซึ่งมีลักษณะที่ไม่ถูกต้องของจีน เพื่อทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทราบว่าพวกเขาสามารถรักษา หรือพัฒนาความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับไต้หวันได้

ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า การตีความมติของทั้งสหรัฐและจีน มีความถูกต้องและเหตุผลอยู่บ้าง โดยนายหวง จิน-ห่าว รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า สหรัฐยอมรับรัฐบาลจีน เป็นรัฐบาลตามกฎหมายของจีน แต่ไม่ได้ยอมกับการอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวัน ของรัฐบาลปักกิ่ง และในทางกลับกัน รัฐบาลปักกิ่งคิดว่า ตนเองได้รับคำมั่นของอเมริกา เกี่ยวกับสถานะในฐานะรัฐบาลเพียงหนึ่งเดียวของจีน รวมทั้งเรื่องที่จีนมีเพียงแห่งเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

“โดยพื้นฐานแล้ว ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกัน และเต็มใจที่จะพิจารณาการตีความที่แตกต่างกันเหล่านี้ เนื่องจากพวกเขาต้องการบรรลุเป้าหมายที่ใหญ่กว่า นั่นคือ การทำให้เป็นมาตรฐาน” หวง กล่าวเพิ่มเติม

นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์เมื่อปี 2522 สหรัฐไม่ได้ท้าทายการอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวันของจีนอย่างเปิดเผย และไม่เปิดเผยความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองของสหรัฐ เดินทางเยือนไต้หวันบ่อยครั้งมากขึ้น

อนึ่ง นายเควิน มากี นักวิจัยความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ จากสถาบันความสัมพันธ์ออสเตรเลีย-จีน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ เชื่อว่าประเด็นสถานะของไต้หวัน ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันที่รัฐบาลปักกิ่งมีต่อรัฐบาลไทเป รวมถึงการแข่งขันที่สูงขึ้น ระหว่างสหรัฐกับจีน

“เป็นเวลานานแล้วที่สหรัฐหลีกเลี่ยงปัญหานี้กับจีน เพราะมันจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจ อยู่ในทิศทางเผชิญหน้ากันมากขึ้น ดังนั้น พวกเขาจึงสามารถดึงความสนใจไปที่การตีความมติของจีนได้” มากี กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES