จุดอันตรายที่สุดซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงระหว่างสองประเทศ คือ แนวสันดอนโธมัสที่สอง หรือที่จีนเรียกว่า แนวสันดอนเหรินอ้าย โดยทั้งสองฝ่ายต่างพยายามอ้างสิทธิของตน เหนือพื้นที่พิพาทแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากหมู่เกาะปาลาวัน ทางตะวันตกของฟิลิปปินส์ ประมาณ 200 กิโลเมตร และจากแผ่นดินใหญ่ที่ใกล้ที่สุดของจีน มากกว่า 1,000 กิโลเมตร

อนึ่ง ฟิลิปปินส์พยายามส่งเสบียงให้กับกองทหารที่ประจำการอยู่ที่ซากเรือรบ บีอาร์พี เซียร์รา มาเดร ซึ่งเกยตื้นอยู่บนแนวสันดอนโธมัสที่สอง ขณะที่หน่วยยามชายฝั่งของจีน พยายามขัดขวางปฏิบัติการของฟิลิปปินส์ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การฉีดน้ำแรงดันสูง หรือการพุ่งเข้าชนเรือของฟิลิปปินส์

“รัฐบาลปักกิ่งพยายามยึดครองแนวสันดอนโธมัสที่สอง และพวกเขากำลังรอให้ซากเรือล่ม หรือไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ส่งผลให้รัฐบาลมะนิลาต้องถอนกองกำลังของตนเองออกไป” นางเฮเลนา เลการ์ดา หัวหน้านักวิเคราะห์จากสถาบันเมอเคเตอร์เพื่อการศึกษาจีน ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี กล่าว

หากประสบความสำเร็จ การกระทำดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลปักกิ่งพร้อมที่จะเข้าควบคุมแนวปะการัง, เพิ่มความแข็งแกร่งของฐานที่มั่นในเส้นทางน้ำที่อุดมไปด้วยแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีมูลค่าการค้าขายหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

แม้นายหวัง อี้เว่ย ผู้อำนวยการสถาบันกิจการระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ยืนกรานว่า รัฐบาลปักกิ่ง “ยับยั้งชั่งใจอย่างมาก” ในการปกป้องสิ่งที่จีนมองว่าเป็นดินแดนของตน แต่นักวิเคราะห์คนอื่น ๆ ชี้ให้ถึงการกระทำของจีนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างการมีอยู่ของตัวเอง

ด้านนายสวน ดัง นักวิเคราะห์ความมั่นคงทางทะเลจากเวียดนาม กล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งใช้ “กลยุทธ์หั่นซาลามี” หรือการดำเนินการครั้งละเล็กน้อย เพื่อค่อย ๆ บ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งรวมถึงการเพิ่มเรือทหาร, เรือยามฝั่ง และเรือทหารกองหนุน บริเวณจุดที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ ในหมู่เกาะสแปรตลีย์

“เป้าหมายที่กว้างกว่านั้น คือ การผลักดันไปทางตะวันออก สู่แนวสันดอนซาบินา ก่อนที่จะรุกคืบเข้าไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (อีอีแซด) ของฟิลิปปินส์ และค่อย ๆ ทำให้การมีอยู่และการควบคุมในพื้นที่ของจีน กลายเป็นเรื่องปกติ” ดัง กล่าวเพิ่มเติม

นับตั้งแต่ปลายเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา จีนบังคับใช้การอ้างสิทธิอธิปไตยฝ่ายเดียว ด้วยกฎระเบียบใหม่ ซึ่งอนุญาตให้หน่วยยามชายฝั่งของประเทศ ควบคุมตัวชาวต่างชาติที่รุกล้ำน่านน้ำพิพาทได้นานถึง 60 วัน

ขณะที่นายเจย์ บาตองบาคัล ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยกฎหมาย ของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ กล่าวว่า จีนมีเป้าหมายที่จะบีบบังคับให้ฟิลิปปินส์ ยอมสละสิทธิตามกฎหมายและสิทธิประโยชน์ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งการเผชิญหน้าที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการใช้กำลังต่อฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ฟิลิปปินส์ยอมจำนนต่ออำนาจของจีน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP