ศูนย์กลางของความวุ่นวายที่เกิดขึ้นคือ นายวิลเลียม ลูวิส ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คนใหม่ของวอชิงตัน โพสต์ ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจจากเบโซส์ หลังได้รับการแต่งตั้ง เมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว
ลูวิส ถูกขอให้พลิกสถานการณ์ของ วอชิงตัน โพสต์ ซึ่งสะสมรางวัลพูลิตเซอร์อย่างต่อเนื่องมานาน 50 ปี หลังบริษัทผลักดันการติดตามเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองอย่าง “คดีวอเตอร์เกต” ทว่าตอนนี้กลับขาดทุนมากถึง 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,829 ล้านบาท) เมื่อปี 2566 แม้จะมีการเลิกจ้าง และหยุดทำหน้าแทรกในหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ลูวิสพบว่า ตำแหน่งซีอีโอวอชิงตัน โพสต์ของเขา มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยเกี่ยวกับบทบาทของเขา ในเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการดักฟังทางโทรศัพท์อย่างผิดกฎหมาย ของสื่อแท็บลอยด์ “เดอะ นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์” (The News of the World) และการที่ลูวิสกลายเป็นศูนย์กลางของการสืบสวนโดยนักข่าวในบริษัทตัวเอง
ตามรายงานของ วอชิงตัน โพสต์ ลูวิสอนุญาตให้มีการทำลายอีเมลหลายพันฉบับ เมื่อปี 2554 ส่งผลให้เกิดความสงสัยว่า เขาต้องการทำลายหลักฐาน แม้ลูวิสปฏิเสธก็ตาม
“ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ใกล้เข้ามา ประเด็นนี้กำลังทำลายบรรยากาศของหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยกย่องมาอย่างยาวนาน และเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ” นายแดน เคนเนดี ศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น กล่าว
อนึ่ง วอชิงตัน โพสต์ เป็นหนึ่งในสำนักข่าวน่าเชื่อถือที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในช่วงเวลา 4 ปีของสมัยอดีตประธานาธิบโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนที่เขาจะสูญเสียตำแหน่งผู้นำให้กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน
ด้านเคนเนดี กล่าวว่า วอชิงตัน โพสต์ ถูกมองว่ารายงานเนื้อหาเกี่ยวกับทรัมป์ได้อย่างเข้มข้น และบอกเล่าตามความเป็นจริง แต่การที่ทรัมป์ออกจากทำเนียบขาวนั้น เท่ากับว่าหนังสือพิมพ์มีเรื่องราวที่ดึงดูดความสนใจของผู้อ่านน้อยลง ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนักเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ สื่อของสหรัฐ อ้างอิงคำพูดของลูวิส ที่บอกกับทีมบรรณาธิการของ วอชิงตัน โพสต์ ในการประชุมเมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่าเขาไม่สามารถ “พูดให้ดูดี” ได้อีกต่อไป เนื่องจากหนังสือพิมพ์สูญเสียเงินจำนวนมาก และความสนใจในบทความต่าง ๆ ของผู้คน
ยิ่งไปกว่านั้น นักข่าวของ วอชิงตัน โพสต์ ยังทราบถึงการลาออกของนางแซลลี บัซบี บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ เพียงหนึ่งวันก่อนการประชุมดังกล่าว ซึ่งมีรายงานว่า เธอไม่เห็นด้วยกับกลยุทธ์ของลูวิส ในการแบ่งแผนกบรรณาธิการออกเป็น 3 แผนก ได้แก่ แผนกข่าว, แผนกความคิดเห็น และแผนกที่อุทิศให้กับสื่อสังคมออนไลน์และงานสื่อบริการ
ขณะที่เคนเนดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ลูวิสยังเผชิญกับการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีการจ้างงาน ซึ่งเขาเชื่อว่า ลูวิสไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องลาออกจาก วอชิงตัน โพสต์ เพราะเขาสูญเสียความเชื่อมั่นจากทีมงาน และหากเขาไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงานได้ วอชิงตัน โพสต์ก็จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร้ทิศทาง.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP