ข่าวแจกของกระทรวงการคลัง เผยยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ส.ค. 57 จำนวน 5.65 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 46.46 ของจีดีพี) โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล 3.92 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นหนี้รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ขณะที่ “สภาพัฒน์” เปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ปี 57 มีมูลค่า 10.22 ล้านล้านบาท (84.2% ต่อจีดีพี)

ผ่านมา 10 ปี เมื่อสิ้นเดือน ต.. 66 มีหนี้สาธารณะ11.12 ล้านบาท ต่อมาเดือน ม.. 67 มียอดหนี้สาธารณะ 11.19 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 62.23 ของจีดีพี) โดยเป็นหนี้รัฐบาล 9.83 ล้านล้านบาท ส่วนหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 3 ปี 66 มีมูลค่ารวม 16.2 ล้านล้านบาท

สรุป 9 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน “ปูด” ขึ้นมาจำนวนมาก สวนทาง “จีดีพี” ของไทย “พยัคฆ์น้อย” ไม่รู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย เคยส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลที่ผ่านมา ไปกี่ครั้ง?

เพราะมองย้อนไปปี 64 มีการแจกเงิน 1 ล้านล้านบาท แต่ได้ค่าตัวทวีคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) 0.6 เท่า และสร้างการเติบโตของจีดีพีได้ 1.5% ปี 65 แจกเงินอีก 0.5 ล้านล้าน ได้ Fiscal Multiplier 0.9 เท่า ทำให้จีดีพีโตขึ้น 2.6%

ปี 66 ไม่ได้แจกสักบาท แถมไตรมาส 4 แทบไม่มีงบเพื่อการลงทุนของปี 67 ออกมาเลย จีดีพีจึงโตแค่ 1.8%

นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี มีอำนาจเต็ม ๆ ในการบริหารราชการแผ่นดิน หลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11-12 ก.ย. 66 แต่ผ่านมา 7 เดือน (ต.ค. 66-เม.ย. 67) รัฐบาลยังไม่สามารถใช้งบประมาณปี 67 เพื่อการลงทุนในโครงการขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนได้เลย!

เนื่องจากบัดนี้ (24 เม.ย. 67) งบฯปี 67 ยังไม่มีผลการใช้จ่ายได้ตามกฎหมาย (มีแต่รายจ่ายประจำที่เป็นเงินเดือน-บำนาญข้าราชการ) ทั้งที่เหลือเวลาอีก 5 เดือน (พ.ค.-ก.ย. 67) จะสิ้นปีงบประมาณอีกแล้ว!

ถ้างบฯปี 67 ใช้ได้ตามกฎหมาย กว่าจะยื่นซอง-ประมูลงาน-ทำสัญญา เหลืออีกแค่ 5 เดือน จะเบิกจ่ายกันทันหรือ? ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 68 ก็เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ อีกแล้ว

ดังนั้นเมื่องบฯปี 67 รัฐบาลไม่สามารถทำเมกะโปรเจกต์ และการลงทุนขนาดกลาง ๆ ได้ทัน! มากระตุ้นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนได้เลย! รัฐบาลจึงต้องมี “เมกะโปรเจกต์” เพื่อประชาชนโดยตรง! นั่นคือโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 10,000 บาท ประมาณ 50 ล้านคน ด้วยวงเงินราว ๆ 500,000 ล้านบาท

ในเมื่อปี 67 การลงทุนเมกะโปรเจกต์ล่าช้าไปแล้ว ดังนั้น 7 เดือนที่ผ่านมา นายเศรษฐาจึงต้องเดินสายไปต่างประเทศเพื่อดึงนักลงทุนเข้ามา พร้อมกับทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปี 67

500,000 ล้านบาท 50 ล้านคน เงินมาจากงบฯปี 67-68 บวกกับเงิน ธ... มากหรือไม่? “พยัคฆ์น้อย” ตอบว่าไม่มาก! เมื่อเทียบกับการแจกเงินในปี 64-65 และไม่มากเมื่อเทียบกับหนี้สาธารณะตั้งแต่ปี 57-66 พุ่งขึ้นมา 5.47 ล้านล้านบาท

แต่ปัจจุบันพวกที่มี “วาระทางการเมือง” กำลังฟุ้งซ่าน! เกรงว่าเงินในมือประชาชนจะไหลไปเข้าร้านค้าของ “เจ้าสัว” โดยไม่ได้มองว่า ร้านของเจ้าสัวในต่างจังหวัดต่างอำเภอ ไม่ได้ตั้งอยู่ถี่ยิบเหมือนใน กทม.-ปริมณฑล

สินค้าในร้านของเจ้าสัว ผลิตเพื่อขายเองถึง 90% เสียเมื่อไหร่! ส่วนร้านของชำ-โชห่วย-รถเร่ ขายแพงกว่าร้าน-ห้างฯ ของเจ้าสัวด้วยซ้ำไป! เนื่องจากร้านของชำ-โชห่วย-รถเร่ ไปซื้อสินค้าจากร้านของเจ้าสัว (ช่วงจัดโปรโมชันลดราคา-แถม) มาขายให้ชาวบ้านอีกต่อหนึ่ง บ้างก็ไปซื้อสินค้าจากห้างฯของเจ้าสัวที่ขายส่ง เพื่อมาขายปลีกฟันกำไรกับชาวบ้าน

ดังนั้นอย่า “ฟุ้งซ่าน” กับเงินของชาวบ้านเขา! อย่าให้ความสำคัญกับคนที่ไม่ยอมเข้าสู่ระบบภาษีให้มากนักเลย!!.