เรื่องการที่สื่อปรับเปลี่ยนตัวเอง หรือปิดตัวไป มันมีเข้ามาเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อิทธิพลจาก internet disruption ถาโถมเข้ามารุนแรงมาก ..ซึ่งนั่นคือตัวแปรหนึ่งในการทำให้ “สื่อกระแสหลัก” ( อันหมายถึงสื่อที่มีลักษณะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีตำแหน่งหน้าที่ผู้บริหาร ผู้พิมพ์ผู้โฆษณารับผิดชอบ และผลิตเนื้อหาตามปักษ์ ไม่ใช่ตามสะดวก อาจนับรวมไปถึงการมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างยาวนานด้วย ) อยู่แทบไม่ได้

แต่สำหรับโทรทัศน์นั้น ตัวแปรสำคัญตัวแปรแรกคือ การประมูลคลื่นของ กสทช. แบ่งประมูลเป็นช่อง SD , HD ช่องข่าว ช่องวาไรตี้ ( คือกำหนดสัดส่วนของรายการต่อวัน ) และช่องสำหรับเด็กและเยาวชน ตอนนั้นก็เหมือนฟองสบู่ดิจิทัล คือ ผู้ประกอบการหลายเจ้าต่างก็คาดหวังว่าจะแบ่งเค้กก้อนยักษ์ที่ชื่อ “โฆษณา” จากทีวีกระแสหลักเดิมทั้งช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 5 ช่อง 9 ซึ่งเดิมนั้นเม็ดเงินค่าโฆษณาก็นับว่าหลายแสนล้านบาท

ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคนอื่นคิดเหมือนกันหรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่า “ผู้ประกอบการบางเจ้า ประมูลให้ได้ก่อนแล้วค่อยคิดจะทำอะไร” เคยมีอยู่เจ้าหนึ่งที่ประมูลช่องเด็กกับช่องข่าวไป ประกาศแข่งขันในสนามทีวีดิจิทัลเต็มตัว แต่ไปๆ มาๆ คือ พอได้ช่องข่าวแล้วคิดจะให้มีพิธีกรเล่าข่าวบันเทิงยาว ก็เป็นไปไม่ได้เสียแล้วมันขัดเงื่อนไข กสทช. ที่ดูๆ จะไม่นับข่าวบันเทิง ข่าวดาราเป็นข่าว ทีนี้ ก็ต้องถามว่า “เขาได้เตรียมตัวมาทำช่องข่าวหรือไม่ ?” ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับคนดูแล้วว่า เห็นถึงความพยายามในการ “สร้างตัวตน”ในการเป็นช่องข่าวของเขาหรือไม่

ช่องเด็กและเยาวชน มีการประมูลไป 3 เจ้า คือ เครือช่องสามช่องหนึ่ง  เครือ mcot ช่องหนึ่ง และช่องโลก้า แต่สุดท้ายก็คือ ไปไม่รอด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจต้องเอามาพูดถึงในบ้านเราอยู่ ว่า “ทำไมประเทศไทยถึงไม่มีบุคลากรผลิตรายการเพื่อเด็กและเยาวชนดีๆ ได้” คนไทยไม่มีไอเดียหรือไม่ ในการออกแบบรายการเด็กที่มากกว่ารายการตลก แต่ต้องเสริมความรู้ คุณธรรมด้วย  ? หรือมองว่า รายการเด็กและเยาวชนนี่เป็นรายการที่ขอสปอนเซอร์ยาก ..อย่างในอดีต ก็มีรายการเด็กที่อยู่มายาวนานรายการหนึ่งของช่องเจ็ดคือ “หนูทำได้” ที่มีอัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ เป็นผู้ดำเนินรายการ เป็นเกมโชว์แข่งทักษะเด็กๆ แต่สุดท้ายก็ลาจอไปเพราะไม่มีสปอนเซอร์เข้า ซึ่งรายได้จากสปอนเซอร์หรือโฆษณานี่แหละคือรายได้หลักของสื่อ ขนาดละครบางเรื่อง ออนแอร์ไป กระแสไม่ดี โฆษณาไม่เข้า ก็ตัดจบง่ายๆ เลย

ส่วนช่องข่าวก็ซื้อไปหลายช่อง แต่ปัญหาที่ทำให้ช่องข่าวไม่น่าดูคือ “ไม่มีความแปลกใหม่” เพราะเป็นการรายงานข่าวเรื่องเดิมๆ เดียวๆ กันทุกช่อง สุดท้าย คนก็ดูช่องข่าวที่มีผู้จัดรายการเป็นที่ชื่นชอบ ..ผู้จัดรายการข่าวทีวีดังๆ ต่างก็ได้รับข้อเสนอดึงตัวไปเป็นจุดขายของช่อง ซึ่งบางคนก็..อาจเรียกได้ว่า “หมดยุคทองของเขาแล้ว” ทำให้สร้างมูลค่าให้ช่องไม่ได้เท่าที่ควร แล้วก็โดนเชิญออก …ส่วนช่องวาไรตี้ รายการอะไรก็ไม่ค่อยสร้างสรรค์มากนัก แบบว่าประกวดร้องเพลงกันกี่รายการก็ไม่ทราบได้ แต่ฟังกันจนเอียน รายการดีๆ บางรายการก็ซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ

ช่องข่าวต่อมาก็เลยปรับตัวเป็นการรายงานข่าวประเภท “ข่าวแม่บ้าน” ซึ่งเคยได้ยินคำๆ นี้ว่า หมายถึงข่าวประเภทรีดผ้าไป ฟังทีวีฉอดๆ ไปก็ได้ คืออาศัยการเล่าข่าวแบบละเอียดยิบ เป็นข่าวที่ฟังแล้วด่าคนในข่าวได้ เช่น ใครทารุณสัตว์ ใครแย่งผัวแย่งเมียใคร กระทั่งปัญหาดราม่าเพื่อนบ้านกระทบกระทั่งกัน ..ซึ่งผู้ประกาศข่าวบางคนสามารถเล่าไปเป็นฉากๆ แบบเรื่องมีหนึ่งเล่าไปสิบ บางเรื่องผัวเมียตีกันรู้แค่เจ้าตัวกับคนข้างบ้านก็พอ กลับเป็นประเด็นในสื่อได้

ทำไมจึงต้องเปลี่ยนเป็นข่าวแม่บ้าน ? เพราะวิธีคิดของคนคือ “ชอบการตัดสินทางจริยธรรม” ไม่ว่าคนไทยหรือชาติไหนก็เถอะ ดังนั้น ก็เสนอข่าวแบบว่า ใครทีมเมียน้อย ทีมเมียหลวง ทีมผัว เรื่องแบบนี้มันเข้าใจง่ายด้วย บางทีออกรายการสดอาจได้ลุ้นมีลูกตบฟ้าผ่าอีกสนุกจะตาย … ถามว่า ข่าวแบบนี้จรรโลงสังคมไหม .. ก็ไม่อยากจะว่ามันไร้สาระไปหมดเสียทีเดียว อย่างกรณีข่าวเมียหลวงเมียน้อย ทำให้เมียหลวงบางคนรู้สิทธิในการฟ้องชู้ หรือต้องหัดเอะใจบ้างว่า ผัวไปแอบจดทะเบียนกับใครก่อนตัวเองหรือเปล่า เพราะจดทะเบียนซ้อนกลายเป็นโมฆะ

เอาเป็นว่า มันก็เป็นเรื่อง “สองคนยลตามช่อง” บางคนอาจคิดว่าเป็นข่าวไม่มีประโยชน์ สู้ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ หรือนโยบายระหว่างประเทศไม่ได้ แต่ชาวบ้านร้านตลาดนี่ หลายคนรู้สิทธิ์ตัวเองว่า เรื่องไหนสามารถฟ้องเรียกร้อง รักษาสิทธิ์ตัวเองได้จากข่าวพวกนี้แหละ หรือบางข่าวทำให้เกิดกระแสกดดันทางสังคมจนเกิดการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น ข่าวไปอยู่บ้านคนอื่นแล้วจะครอบครองปรปักษ์ มันทำให้ประชาชนรู้อะไรเกี่ยวกับกฎหมายเยอะอยู่  และทำให้เกิดกระแสพูดถึงอย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมและการถอนฟ้องปรปักษ์  

ข่าวแบบนี้แหละขายดี แต่ก็ต้องบอกว่า “ขอเถอะว่าอย่าให้มีการปั้นบักพลเบอร์สองขึ้นมาอีก” คืออย่าไปทำขนาดเรียลลิตี้เจาะชีวิตคนตกเป็นข่าวเหมือนกรณีนายไชย์พล วิภา ณ บ้านกกกอก ..ตอนนั้นก็พยายามเข้าใจอยู่ว่ามันเป็นภาวะโควิด คงไม่มีอะไรเสนอ แล้วบังเอิญเรื่องนายไชย์พลเกิดขายได้ขึ้นมา ก็เลยเล่นยาว แต่สื่อบางสื่อเขาก็มีความชัดเจนว่า เขาไม่ต้องการส่งเสริมวิธีการรายงานข่าวเช่นนี้ หรือส่งเสริมตัวบุคคลที่ยังต้องคดี ..ข่าวอื่นๆ มีให้รายงานเยอะแยะถ้าหาประเด็นเป็น ..ซึ่งการสวนกระแสนิยม บางทีก็ต้องยอมรับสภาพว่ารายได้ไม่เท่าช่องที่ขายข่าวตามกระแส

นอกจากทีวีดิจิทัล ยังมีพวกทีวีดาวเทียมหรือช่องยูทูปของสื่อกระแสหลัก เช่น หนังสือพิมพ์ก็มาทำสื่อแพร่ภาพกระจายเสียงผ่านช่องยูทูปได้ ขณะที่มีคนกลุ่มหนึ่ง สามารถลุกขึ้นมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านต่างๆ ทีมไม่ต้องใหญ่ ผลิตรายการเองแล้วโดนใจคนดูก็ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ อย่างช่อง VRZO  ของสุรบถ หลีกภัย ลูกชายอดีตนายกฯชวน หลีกภัย  หรือช่อง I roam alone และ ฯลฯ ที่เป็น “content creator” หรือช่องของบี้ เดอะสกา พวกนี้กลายเป็นพวกหารเม็ดเงินโฆษณาจากทีวีดิจิทัลอีก ..ตอนแรกที่คิดกันว่า จะแบ่งเค้กกันแบบสมผลประโยชน์ทุกฝ่ายได้กำไร กลายเป็นว่า เพราะ internet disruption ทำให้เค้กเม็ดเงินโฆษณาเล็กลง บางช่องยังหวังฐานผู้ชมเก่า

ในส่วนของวอยซ์ ทีวี ฐานผู้ชมคือพวกที่ชอบการเมืองแบบค่อนข้าง..อย่าเรียกว่าฮาร์ดคอร์เลย เรียกว่าชอบเรื่องการวิเคราะห์ลึกๆ หลากหลาย ซึ่งวอยซ์ ทีวีเป็นช่องที่“โดนตลอด”เวลามีทำรัฐประหาร โดนเตือน โดนปิด แต่ก็ยังต่อสู้เรื่องการทำรายการต่อไป กระทั่งคืนคลื่นไปแพร่ภาพทางดาวเทียมหรืออินเทอร์เนต แต่ถึงจุดหนึ่ง การผลิตรายการนั้นค่าใช้จ่ายมันสูง ก็ต้องตัดใจปล่อยช่องไป แม้ใครจะว่า เป็นโทรทัศน์ของนายทุนตระกูลชินวัตร แต่ที่สุดแล้ว การที่ช่องนี้ปิดตัวไป ไม่ถูกยกขึ้นมาเป็นช่องอวยเพื่อไทย ( อาจมีนางแบกนายแบกบางคน แต่ไม่ใช่ทั้งช่อง ) ก็คงจะแสดงให้เห็นถึงอิสระในการนำเสนอรายการได้ระดับหนึ่งโดยที่ไม่ถูกทุนแทรกแซง

ส่วนทีวีดิจิทัลที่ดิ้นรนอยู่ทุกวันนี้จะทำอย่างไรต่อไป ? คำตอบแรก น่าจะเป็นเรื่องของการสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ ทั้งข่าวทั้งรายการ อะไรๆ รอบตัว ถ้ารู้จักสังเกตว่า “มันฟ้องปรากฏการณ์อะไร” ก็เอามาขยายเป็นข่าวได้ อย่างเช่น ไปเดินตามวัดเจอพวกขายหอย ขายปลา ขายนกให้ปล่อยเอาบุญ ก็คิดวิธีทำสกู๊ปเรื่องที่มาของสัตว์พวกนี้ ผลของสัตว์พวกนี้ต่อระบบนิเวศเมื่อปล่อยออกไป ..แล้วเราจัดการเอเลี่ยนสปีชี่ย์อย่างไร อย่างเช่นปลากดเกราะ หรือปลาซัคเกอร์ที่เมื่อก่อนเขาเรียกว่าปลาเทศบาล อาจนำเสนอว่า เนื้อมันกินได้ หรือทำอาหารสัตว์ได้ และมีการสนับสนุนให้จับเอเลี่ยนสปีชีย์พวกนี้มาใช้ประโยชน์ … ก็เขาว่าในอดีตตั๊กแตนปาทังก้าก็มีปัญหาเดียวกัน  แต่สุดท้ายถูกจับกินหมด

เดินถัดจากแถวลานปล่อยนกปล่อยปลา อาจไปนั่งสังเกตเรื่องความเป็นพุทธพาณิชย์ของวัดก็ได้ แล้วโยนคำถามเข้าสังคมถึงความเหมาะสมในการที่วัดเรียกค่าจัดงานศพมูลค่าสูง หรือความเป็นพุทธพาณิชย์ในวัดที่ไม่มีการเข้าระบบภาษีทั้งที่เป็นตัวเงินมหาศาล .. กระทั่งเดินไปเดินมาตามทางเท้า บางจุดอาจเห็นตู้โทรศัพท์ที่เขารื้อไม่หมดอยู่ ก็ตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศไทยถึงไม่มีโทรศัพท์สาธารณะเช่นนี้บริการ และถ้าสำรวจกันจริงๆ คนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนมีเท่าไร เป็นข้อมูลจำเป็นเพราะเมื่ออินเทอร์เนตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมาก ประชาชนต้องมีเครื่องมือคือสมาร์ทโฟน  

นั่นคือในส่วนรายการข่าว แต่รายการบันเทิง วาไรตี้ก็ต้องคิดให้สร้างสรรค์ด้วย ไม่ใช่เป็นรายการเอาแต่แข่งร้องเพลง รายการเพื่อการฮาร์ดเซลส์พวกสินค้าความงามอะไรต่างๆ ที่น่าเชื่อว่าลงทุนโฆษณาเม็ดเงินมหาศาลมาก เพราะสามารถแทรกเนื้อหาในรายการข่าวบางรายการได้ ..แต่อันนี้ก็คงไปว่าเขาไม่ได้เท่าไรนัก เพราะนั่นคือรายได้ของช่องเขา ลองคิดถึงการทำวาไรตี้ท่องเที่ยวดีๆ แบบ unseen Thailand ดู ..ในปัจจุบันนี้จุดขายใหม่ๆ สำหรับการท่องเที่ยวก็มีเพิ่มขึ้น จุดท่องเที่ยวน่าเชคอินไม่จำเป็นต้องดูธรรมชาติ แต่เรื่องวิถีชุมชนก็น่าสนใจ

การแสวงหารายได้…ก็อาจต้องดูโมเดลประเภททำกิจการอื่นควบประกอบ อย่างเช่น บางช่องก็ทำสินค้ามาขายเป็นรายได้อีกทาง หรือบางช่องที่ทุนใหญ่เป็นเจ้าของ เขาก็ยังพอจัดสรรแบ่งปันกำไรก้อนโน้นมาโปะขาดทุนก้อนนี้ได้   

ก็ต้องจับตาดูว่า เมื่อครบกำหนดสัญญา จะคืนคลื่นกันกี่ช่อง แต่ก็ขอเป็นกำลังใจให้คนทำงานสื่อมา ณ ที่นี้.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่