คนเมือง คนที่ไม่ได้เป็นเกษตรกร ไม่ค่อยสัมผัสกับไอดิน กลิ่นหญ้าตามท้องไร่ท้องนา มักจะตื่นเต้น ตกใจกับสิ่งปรุงแต่ง เกี่ยวกับ “แชมป์โลกพันธุ์ข้าว”

แชมป์โลกของผู้ยากไร้ วนเวียนอยู่ไม่กี่ประเทศผู้ปลูกข้าวส่งออก คือ ไทย อินเดีย เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา

แต่ลูกหลานชาวนา หรือคนทำนาจริง ๆ ไม่ได้สนใจอะไรกับแชมป์โลกนั้นหรอก แต่สนใจราคาข้าวมากกว่า โดย 2 ฤดูการปลูกมาแล้ว ที่ราคาข้าวเปลือกขาว สูงเกิน 10,000 บาท/ตัน ราคาดีกว่าก่อนหน้านั้นตันละ 2,500-3,000 บาท

ชาวนาสนใจเรื่องพันธุ์ข้าว พันธุ์ไหนให้ผลผลิต/ไร่สูง ทนต่อโรค รวมทั้งสนใจราคาปุ๋ย เรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ มากกว่าเรื่อง “แชมป์”

พยัคฆ์น้อย” ถามพรรคพวกเป็นนักข่าวเก่า มีพื้นที่ปลูกทุเรียนดินภูเขาไฟ 30 ไร่ ในจ.ศรีสะเกษ ฟาดกำไรปีละ 2-3 ล้านบาท มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว ว่าทราบข่าวระทึก!
หรือเปล่า? เวียดนามกำลังแซงไทยเป็นแชมป์ส่งออกทุเรียนเข้าไปจีน

พรรคพวกหัวเราะฮ่า ๆๆ แล้วบอกว่า “ตามสบายเลย! ขอให้ราคาทุเรียนหน้าสวนไม่ต่ำกว่า กก.ละ 100 บาท ก็มีความสุขแล้ว”

เขาเล่าต่อว่า วันนี้ (14 พ.ค.) เพิ่งตัดทุเรียนมีดแรก 7,500 กก. ขายกันแบบเหมาคละกันไป กก.ละ 120 บาท แต่ถ้าเป็นสวนใหม่ ๆ อายุต้นทุเรียน 5-7 ปี ลูกสวย ๆ ก็จะได้ กก.ละ 137-140 บาท

ตอนนี้ทุเรียนระยอง-จันทบุรี ใกล้หมดแล้ว จึงมีพ่อค้าจากเมืองจันท์ พ่อค้าจากชุมพร วิ่งมาหาซื้อทุเรียนศรีสะเกษ ซึ่งปัจจุบันทำเป็นระบบดีขึ้นมาก เพราะมีตัวแทนฝ่ายปกครอง-เกษตรอำเภอ-กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน คอยตรวจสอบทุเรียนก่อนตัด มาเช็กเปอร์เซ็นต์แป้ง เพื่อป้องกันปัญหา “ทุเรียนอ่อน” สวนไหนประวัติไม่ดี ต้องส่งทุเรียนมาตรวจก่อนตัดขาย ยิ่งทุเรียนข้ามจังหวัด เข้ามาสวมเป็นทุเรียนศรีสะเกษไม่ได้เลย

คนกินเขารู้ว่าทุเรียนจังหวัดไหนอร่อย ที่ไหนถูก ที่ไหนแพง ในเมืองจีนก็เหมือนกัน มี 2 ตลาด ของถูกกับของแพง แบ่งตลาดกันไป แต่ของไทยผมยังมั่นใจเรื่องรสชาติความอร่อย และการปลูกทุเรียนไม่ง่าย! สวนทุเรียน 2 แปลงติดกัน รสชาติยังต่างกัน จากปัจจัยเกี่ยวกับประสบ การณ์เจ้าของสวน การดูแลเอาใจใส่ การให้น้ำปุ๋ย”

พยัคฆ์น้อย” ถาม “หมอชัย” นายชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล ผู้มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านการเกษตรสมัยใหม่ เกี่ยวกับ “แชมป์” ส่งออกทุเรียน

หมอชัยบอกว่าคนในวงการจริง ๆ ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นตกใจเรื่องนี้ และไม่รู้ว่าเอาข้อมูลตัวเลขมาจากไหน น่าจะเป็นข้อมูลไตรมาส 1 (ม.ค.-มี.ค.) ซึ่งไทยยังไม่ค่อยมีทุเรียน จะเริ่มฤดูทุเรียนจริง ๆ ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. เป็นทุเรียนภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ตราด ระยอง ปราจีนบุรี หลังจากนั้นจะเป็นทุเรียนศรีสะเกษ แล้วจึงขยับลงภาคใต้ ตั้งแต่ชุมพรเรื่อยลงไป

คนจีน 1,400 ล้านคน กินทุเรียนเพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก ยังไม่ถึง 1 กก./คน/ปี ส่วนไทยมีทุเรียนปีละ 1.2 ล้านตัน ส่งไปจีน 9 แสนตัน กินในประเทศ 3 แสนตัน แต่ปีนี้สภาพอากาศไม่ดี ผลผลิตน้อย อานิสงส์จึงไปตกกับทุเรียนเวียดนาม

ไม่ต้องห่วงเรื่องแชมป์หรอกครับ เอาเป็นว่าถ้าจีนต้องการทุเรียนเพิ่มอีกปีละ 1-2 ล้านตัน ไทยและเวียดนามจะหาทุเรียนจากที่ไหนไปให้คนจีนกิน” หมอชัยว่าอย่างนั้น!!.

…………………………..
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…