“หัวใจ” เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ทำงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทุกส่วนให้ทำงานได้อย่างราบรื่น แต่เคยลองสังเกตหัวใจที่เต้นอยู่ทุกๆ วัน ของเราบ้างไหมคะ ว่าในบางครั้งอาจมีวันที่เต้นผิดปกติ ไม่ว่าจะเต้นเร็วหรือช้าเกินไป หรือเต้นไม่สม่ำเสมอนั้น เป็นสัญญาณเตือนของ “โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ”

โดยในวันนี้ นายแพทย์ศรัณย์พงศ์ ภิบาลญาติ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด รพ.วิมุต จะมาบอกเบ่าถึวโรคดังกล่าวนั้น บอกเลยว่าอาการของ “โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ” สังเกตได้ยากจากภายนอก บางคนกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนที่รู้สึกอ่อนเพลียและใจสั่น หรือเจ็บแน่นหน้าอก หรือบางทีก็ถึงขั้นหน้ามืดเป็นลมไป ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของ “โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ไม่เต็มที่ และหากปล่อยไว้นาน อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนมากมาย

“โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ” (Cardiac Arrhythmia) เกิดจากความผิดปกติของจุดกำเนิดกระแสไฟฟ้าในหัวใจ หรือกระแสไฟฟ้าในหัวใจวิ่งลัดวงจร อาจทำให้ทั้งหัวใจเต้นเร็วหรือช้าเกินไปกว่าปกติ หัวใจเต้นช้าสลับเร็ว รวมถึงมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจเต้นแทรกขึ้นมาเป็นครั้งคราว ส่งผลให้หัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ เกิดการไหลเวียนของเลือดไม่ปกติ โดยลักษณะทั่วไปของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถแบ่งได้ 3 แบบ ได้แก่ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร หรือเต้นช้ามากกว่าปกติ จนวิงเวียนหรือถึงกับจะเป็นลม หัวใจเต้นแรงขึ้นจนรู้สึกใจสั่นหรือเต้นสะดุด และสุดท้ายคือหัวใจเต้นระรัว จนรู้สึกไม่สม่ำเสมอ “หัวใจเต้นช้ามากกว่าปกติ ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่เกิดขึ้นได้ แต่พบได้น้อยกว่า เพราะมักเกิดในผู้สูงอายุ โดยไม่ว่าจะเต้นเร็วและเต้นช้ากว่าปกติก็ถือว่าอันตราย เพราะในระยะยาวอาจเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ โรคหัวใจล้มเหลวทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมองตีบ และเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ”

สำหรับ “ปัจจัยเสี่ยงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” อาจเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ภาวะเครียดสะสม พักผ่อนน้อย ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว และผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ก็เสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่าคนปกติ

นอกจากนี้ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเกิดกับผู้ที่มีหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือโรคหัวใจทางพันธุกรรม ที่ส่งผลให้มีการนำไฟฟ้าผิดปกติหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ “ปกติคนที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย เวียนหัวตาลาย รวมถึงเจ็บแน่นหน้าอก หรือบางคนก็ถึงขั้นหน้ามืดเป็นลม ซึ่งใครที่มีอาการเหล่านี้ก็ถือว่าอาจเข้าข่ายโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แนะนำให้เข้ามาตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อหาความผิดปกติ แพทย์จะได้รู้ตำแหน่งของการเต้นที่ผิดจังหวะอย่างชัดเจนและหาแนวทางการรักษาได้อย่างถูกต้อง”

ส่วน “การป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ทำได้โดยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ หรือการพักผ่อนน้อย ทั้งนี้ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ ก็จะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคได้ ส่วนผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะรักษาตามอาการและชนิดของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในแต่ละคน ซึ่งการตรวจวินิจฉัย มีหลายวิธี ตั้งแต่..
-การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพัก
-เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง,
-อัลตราซาวนด์หัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง
-เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะมีอาการแบบ 7 หรือ 14 วัน
-การตรวจสมรรถภาพหัวใจ
-การทดสอบภาวะการเป็นลมหมดสติด้วยเตียงปรับระดับ

“เมื่อทราบรายละเอียดของโรค แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะกับแต่ละคน มีตั้งแต่การใช้ยาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจที่เร็วมากเกินไป และการใช้กระแสไฟฟ้าหรือคลื่นวิทยุเพื่อปรับการเต้นของหัวใจให้ปกติ รวมถึงการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ กรณีหัวใจเต้นช้าเกินไป”

ทั้งนี้ นพ.ศรัณย์พงศ์ ได้ทิ้งท้ายอีกด้วยว่า “ใครที่มีอาการเข้าข่ายภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แนะนำให้มาตรวจกับแพทย์อย่างละเอียด เพราะอาการของผู้ป่วยโรคนี้แตกต่างกันไปในแต่ละคน จะได้หาแนวทางการรักษาได้ถูกต้อง แม้ว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจเป็นภัยเงียบ แต่เราลดความเสี่ยงของโรคได้ด้วยการดูตัวเองให้แข็งแรง นอนให้พอ และกินให้ครบห้าหมู่ หัวใจเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญต่อร่างกาย ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนดูแลหัวใจของตัวเองให้ดี ร่างกายของเราจะได้แข็งแรงอยู่เสมอครับ”..

………………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”
อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…