ท่ามกลางความหวาดกลัวเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ประกอบกับความคลางแคลงต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่รัฐบาลได้จัดหามาให้กับประชาชนไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการต่อสู้กับโควิดในสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องยอดจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนหลายกลุ่มไม่พอใจกับการบริหารวัคซีน และการจัดการโรคไม่ทันต่อสถานการณ์ และความเป็นอยู่ลำบาก จึงพร้อมใจกันขย่มรัฐบาล “ทีมการเมืองเดลินิวส์”จึงต้องมาสนทนากับ “นพ.จรุง  เมืองชนะ” อดีตผอ.สถาบันวัคซีน มาสะท้อนมุมมองในการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล

โดย “นพ.จรุง” เปิดฉากกล่าวว่า การบริหารจัดการวัคซีนเริ่มต้นรัฐบาลทำได้ดี มีการวางแผนในระยะยาว ทั้งสั่งซื้อจากต่างประเทศ และทุ่มงบประมาณ เพื่อพัฒนาวัคซีนในประเทศ มีแผนการกระจายและฉีดวัคซีนเป็นระบบ กำหนดกลุ่มเป้าหมายชัด ทั้งระยะที่วัคซีนมีน้อย, มีมากขึ้น และมีพอเพียง โดยระยะแรกฉีดให้กับบุคลากร ต่อมาฉีดให้กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค

แต่ปัญหาคือ นโยบายชัดเจน แต่เมื่อนำไปปฏิบัติกลับมีการฉีดผิดกลุ่มเป้าหมาย การสื่อสารสะเปะสะปะ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่เข้าใจว่าสุดท้ายจะเอาแบบไหน ความจริงการฉีดบุคลากรสาธารณสุข ไม่ได้มีปัญหา แต่กลุ่มเสี่ยงกลับถูกเลื่อน โดยมีคนมีอำนาจในเชิงการเมืองมาขอวัคซีน เช่น ผู้ประกันตนมาตรา 33 ,ฉีดเมืองท่องเที่ยว ,คมนาคมก็เอาไปฉีดคนขับรถ เป็นต้น โดยที่ทราบหรือไม่ในภาวะที่วัคซีนมีน้อย การฉีดให้คนกลุ่มนี้จะลดตาย ลดการนอนรพ.ได้เท่าไหร่   

ทั้งนี้ วัคซีนที่มีถ้าให้ถูกจุด ถูกคนจะช่วยลดคนตาย ลดคนนอนโรงพยาบาล ลดภาระงานของแพทย์บุคลากรการแพทย์ และทรัพยากรที่ใช้รักษา แต่ยังช่วยลดการแพร่ระบาดไม่ได้ ถ้าวัคซีนอยู่ในระยะแบบนี้ เราต้องเอาเรื่องตาย เรื่องการป่วยหนักไว้ก่อน ก็คือ 3 กลุ่มแรก ซึ่งวันนี้เราฉีดวัคซีนได้มากกว่า 10 ล้านโดส แต่ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย

อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของวัคซีนมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัววัคซีน การตอบสนองของผู้รับวัคซีน การจัดเก็บ ดังนั้นการตัดสินใจจัดหาวัคซีนต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก เป็นข้อมูลที่ดีที่สุดในขณะนั้น ไม่ใช่การใช้จิตนาการ หรือความรู้สึก รวมถึงการพิจารณาฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย  

“เพราะฉะนั้นคือเมื่อนโยบายชัดเจนอยู่แล้ว ก็ต้องทำตามนโยบายไม่เกรงใจใคร มีการตรวจสอบและนำเสนอข้อมูลอย่างโปร่งใส ที่สำคัญคือต้องให้คนที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ที่มีความรู้จริง มีข้อมูลจริงเป็นผู้ดำเนินการตามหน้าที่”  

นอกจากนี้ การที่รัฐใช้เงินสนับสนุนบริษัท เพื่อผลิตวัคซีนใช้ในประเทศ อย่างแอสตร้าฯ ซึ่งตอนหลังขาดความชัดเจนไม่ได้วัคซีนตามที่ต้องการ หากผลิตได้น้อยก็เข้าใจ แต่กลับพบว่านำวัคซีน 2 ใน 3 ส่งออก ทั้งที่ไทยมีการระบาดหนักและวัคซีนไม่เพียงพอ รัฐกลับไม่ใช้พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีน พ.ศ.2561 บังคับห้ามส่งออกได้ หรือให้ส่งออกได้ แต่ในสัดส่วนที่เหมาะสม ที่มาบอกว่าที่ไม่ห้ามส่งออก เพราะต้องคิดถึงประเทศอื่นด้วยนั้น มีข้อมูลว่าประเทศเขาอยู่ในสถานการณ์อย่างไร แต่หลายประเทศ เช่น อินเดียก็เป็นผู้ผลิตแต่เขาห้ามส่งออก เพราะมีการระบาดหนักในประเทศ ซึ่งประเทศอื่นๆ ก็เข้าใจได้

อีกทั้งการที่แอสตร้าฯ ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตทำให้ทั่วโลกมองว่า ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ จึงไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ แบบนี้แฟร์กับประเทศไทยหรือไม่ ดังนั้นคิดว่า ควรมีการหารือกับบริษัทเจรจาในเรื่องนี้ และจัดทำข้อมูลเพื่อให้ผู้บริหารประเทศชี้แจงต่อนานาชาติได้  

อีกเรื่องสำคัญที่ตนเคยทักท้วงว่าไม่ควรทำ คือ การปล่อยให้มีการนำวัคซีนมาขายให้ประชาชน เพราะจะเป็นกำแพง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน วันนี้มีแต่ความวุ่นวาย ทั้งที่รัฐควรกำกับ ถ้าบอกว่ามีปัญหาจัดซื้อล่าช้าให้สิทธิเอกชนทำได้ แต่ก็ต้องไปกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับวัคซีนด้วย จะให้สบายใจกันทุกฝ่ายไม่ได้ในเมื่อวัคซีนมีจำกัด  

@ มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น การดึงโควตาวัคซีนฉีดผิดกลุ่มเพราะเอาการเมืองนำการแพทย์

ต้องยอมรับว่านี่เป็นเรื่องของวัคซีนการเมือง จริงๆ แต่ผมไม่ค่อยโทษคนเหล่านี้เท่าไหร่ เพราะเขาเข้าใจแค่ว่าถ้าเขาไม่พูดกลุ่มคนของเขาจะไม่ได้  เป็นการคิดแบบง่าย แต่ไม่ได้รู้ลึกว่าติดแต่ไม่ตาย แต่ผมโทษคนที่มีหน้าที่โดยตรงคือกระทรวงสาธารณสุขที่รู้มากที่สุด แต่การทำงานเป็นลักษณะ “ใช่ครับนาย ทำได้ครับผม” เลยทำให้เห็นภาพคนมาขอวัคซีนเต็มไปหมด

“คิดว่าเป็นปัญหาเรื่องการขาดเอกภาพ วัคซีนการเมืองจะมีปัญหาน้อยถ้าคนที่เป็นต้นเรื่องมีความเข้มแข็ง เรามีพร้อมหมดจะมีประเทศไหนบ้างที่มีกฎหมายที่เข้มแข็งมีพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน เรามีหมดแล้ว แต่คนที่เอาไปใช้มีความอ่อนแอ เอาเครื่องมือนี้มาใช้ในการบังคับคนอื่นได้แต่ไม่ทำ”

@ มีการตั้งคำถามว่าวัคซีนซิโนแวคประสิทธิภาพป้องกันโรคต่ำ แต่รัฐยังสั่งเพิ่ม เหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่

ผมมองว่ายังเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสม เมื่อเราเห็นแล้วว่าวัคซีนโมเดอร์นา ไฟเซอร์ กว่าจะมาก็ไตรมาส 4เพราะฉะนั้นแค่วัคซีนมีประสิทธิภาพ 50% ก็ยังมีประโยชน์ ทำร่วมกับการสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง ล้างมือ เหมือนเสื้อเกราะถึงจะบางแต่ก็ยังดีเผื่อไม่ตาย สิ่งสำคัญการได้อะไรที่ 50% แต่ถ้าคนได้เยอะๆ ประสิทธิภาพในภาพรวมจะสูงกว่า 50% อาจสูงถึง 80% ทำให้การแพร่เชื้อทำได้ยาก และช้า ลดปัญหาเตียงและทรัพยากรการรักษา แต่ถ้ามัวแต่รอวัคซีนที่คิดว่ามีประสิทธิภาพ 80-90% ทั้งๆ ที่มีการใช้ มีการทดลองกันคนละพื้นที่ คนฝรั่ง กับคนเอเชียอาจจะให้ผลไม่เหมือนกันก็ได้ เพราะฉะนั้นอย่ามองจุดเดียว

@ วันนี้ไทยยังแพร่ระบาดมากมาตรการที่ออกมาถือว่าทันหรือไม่    

ไม่มีอะไรสาย แต่เราจะต้องใช้ข้อมูล ที่มีอยู่รอบด้าน มีความชัดเจน จะปิดอะไรก็ปิด แต่ต้องมีเหตุผลรองรับแล้วก็พูดให้ประชาชนเข้าใจ เชื่อว่าประชาชนรับฟัง เอาให้ชัดไม่ต้องกลัวว่าจะถูกด่า การไม่ชัดเจนประชาชนจะบ้าตาย ส่วนที่มีประชาชนกลุ่มต่างๆ ออกมาเรียกร้องนั้นเป็นเรื่องดี จะทำให้ผู้บริหารตื่นตัว และระมัดระวัง ทำอะไรอย่างมีหลักการ  เหตุผลมากขึ้น แต่ประชาชนก็ไม่ใช่ว่าอ่อนไหวไปกับทุกเรื่อง จะต้องใช้ข้อมูลรอบด้าน อย่าตัดสินอะไรง่ายๆ วัคซีนตัวนั้นดีกว่าตัวนี้ ทำไมไม่เอาตัวนี้เข้ามา ซึ่งมีแต่ทำให้เกิดความโกรธ แบบนี้ทำให้เสียบ้านเสียเมืองได้เลย และจะตกเป็นเครื่องมือของอีกฝ่ายได้ .